การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (13) การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

1. แหล่งความรู้และภูมิปัญญาที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ ตำรา คติชน พิธีกรรมและพิธีการ การใช้อุปมาอุปไมยและระบบสัญลักษณ์ ตลอดจนหลักปฏิบัติที่แฝงอยู่ในขนบธรรมเนียมและประเพณี

2. โครงสร้างพื้นฐานในส่วนที่เป็นสถาบัน ได้แก่ สถานที่ประกอบพิธีกรรม (โบสถ์ วัด มัสยิด) ผู้นำทางจิตวิญญาณ ชุมชนผู้ปฏิบัติธรรม โครงสร้างชีวิตทางสังคมที่ดึงดูดให้คนได้มาพบปะกันและเครือข่ายการสื่อข้อมูลข่าวสาร

3. โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นจัดการเรื่องกาละเทศะ (Temporo-spatial organization) คือรูปแบบการจัดระบบทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับ กาล (เวลา) และเทศะ (สถานที่) ตัวอย่างเช่น

3.1 การจัดเวลาสำหรับการทำพิธีกรรมในรอบปีเพื่อชักนำให้คนเข้าใกล้ศาสนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการสืบเนื่องมาแต่โบราณหรือเป็นการคิดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่

3.2 การจัดเวลาสำหรับพิธีกรรมส่วนบุคคลที่แฝงไว้ด้วยหลักธรรม ตั้งแต่เกิดจนตาย

3.3 การจัดสรรพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตวิญญาณ อันมีลักษณะสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันส่วนบุคคล

3.4 การจัดสรรพื้นที่ที่เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณแบบเป็นหมู่คณะ

ในส่วนของสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลให้โครงสร้างพื้นฐานทางจิตวิญญาณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

1. ความพอเพียงของเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อการยังชีพ

2. การอยู่ร่วมกันของผู้คนหลากหลายวัยวุฒิ

3. ความสมดุลของกฎเกณฑ์ระหว่างเพศหญิงชาย

4. ความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน โดยปราศจากอำนาจครอบงำและความรุนแรง

5. จังหวะต่าง ๆ ของชีวิตที่ไม่เร่งรัด เร่งรีบจนเกินไป

6. การมีมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน

ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นการยากที่จะบอกเป็นกฏเกณฑ์ตายตัวว่าปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้หรือการเติบโตทางจิตวิญญาณ ปัจจัยเหล่านี้บอกเพียงแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ที่โอกาสในการเรียนรู้จะเกิดขึ้นมากกว่าที่จะเป็นปัจจัยกำหนดที่คาดการณ์หรือหวังผลได้อย่างเครื่องยนต์กลไก

ประเวศ วะสี (2547 อ้างถึงใน ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, 2552) กล่าวถึงการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณว่าต้องเริ่มจากการพัฒนาปัญญา แล้วการพัฒนาปัญญาจะนำไปสู่การพัฒนากาย จิต และสังคม การพัฒนาปัญญาทั้ง 4 ต้องทำร่วมกันจึงเกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์ สุขภาวะที่สมบูรณ์เกิดจากการเรียนรู้ที่ดี การเรียนรู้ที่ดีจึงเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องแสวงหาการเรียนรู้ที่ดีเพื่อตนเองและเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พบการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งมนุษย์สามารถพัฒนาจิตด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

1. การประมวลและการกระจายความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาจิต

2. โยคะเพื่อสุขภาพ

3. สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

4. ศิลปะกับพัฒนาการทางสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

5. วิปัสสนากัมมัฏฐาน

6. การศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ

7. สื่อสร้างสรรค์

8. การทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม

9. ชุมชนเข้มแข็งและเศรษฐกิจพอเพียง

10. การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

11. ธุรกิจเพื่อสังคม

12. ความเป็นธรรมทางสังคมและสันติภาพ