การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (8)

กิจกรรม 5 โรงงานสร้างสรรค์ โรงเรียน เราไปเอาโรงงานมาช่วย เพราะเรามีโรงงานล้อมรอบอยู่ กั้นอยู่โตโยต้า กั้นอยู่อีซูซุ กั้นอยู่ไฟฟ้า คำว่าโรงงาน เรารวมไปถึงองค์กรอื่นด้วย เช่น เทศบาล มาช่วยด้วย วัดมาช่วยด้วย ถ้าอยู่ 3 จังหวัดชายแดน มัสยิดมาช่วยด้วย คือ 5 โรงงานสร้างสรรค์มาช่วย คุณไม่ช่วยอะไร เค้ามีงบที่จะช่วยโรงเรียนอยู่ ผมก็ชวนเค้ามาเที่ยว ชวนเค้ามาเปิดงานกีฬาสีนี้พวก ผอ.เขต ผมไม่เชิญ ให้รับรู้อย่างเดียว ผมไม่เชิญ เพราะไม่มีเงิน เชิญคนรวย ผมเชิญผู้จัดการโตโยต้ามาเลย ผมชวนผู้จัดการโตโยต้า เอาคนสวยๆไปเชิญมา…

…ผมได้ทีมงานมาดีด้วย สวนส้มนี่เป็นโรงเรียนใหญ่แต่ผมขาดงบประมาณอาจารย์ ผมโชคดีได้งบประมาณหน่วยงานอื่น ช่วยผมเยอะ นะอาจารย์ตรงนี้ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง อาจารย์มีส่วนช่วยด้วย เพราะเป็นคนสวย…

ข้อความข้างต้นมีนัยยะของการเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศอย่างชัดเจน3  มิติหนึ่งของการเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศก็คือการเห็นผู้หญิงเป็น “ของสวยๆ งามๆ” นับเป็นการทอนบุคคลลงเป็นเครื่องมือแห่งการตอบสนองความต้องการของผู้ชาย อันที่จริงระบบการศึกษาที่มุ่งเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์น่าจะต้องแสดงให้เห็นว่าบุคคลมีความสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนได้ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งคือการให้บุคคลพึ่งพาสติปัญญาและความดีงามอันอยู่ในอำนาจตน มากกว่าพึ่งพารูปร่างหน้าตาที่ไม่อาจกำหนดได้และไม่จีรังเช่นความรู้และคุณธรรม ข้อความข้างต้นดูจะสะท้อนความไม่ตระหนักในมิตินี้

อาจมีคำถามว่าถ้าอัตตาณัติเป็นเรื่องของการตัดสินใจเลือกและผู้หญิงยินดีเลือกที่จะเป็นวัตถุทางเพศ การแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเลือกดังกล่าวจะเป็นการไม่เคารพอัตตาณัติของผู้หญิงหรือไม่ คำถามนี้ในส่วนจริยศาสตร์เองก็มีการถกเถียง โดยประเด็นสำคัญประการหนึ่งก็เป็นเรื่องการวิพากษ์กลยุทธ์ที่ใช้เพื่อสร้างสำนึกความเป็นวัตถุทางเพศแก่ผู้หญิง ข้อคิดจากการวิพากษ์ดังกล่าวก็คือความซับซ้อนของอำนาจกดขี่ที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในบุคคลและทำให้บุคคลเลือกตามอำนาจนั้นราวกับว่าเป็นความต้องการของตนเอง ข้อนี้น่าจะได้ยินกันมากขึ้นในปัจจุบันในความสัมพันธ์กับปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีรูปแบบเปลี่ยนไป นั่นคือ มิได้มีเพียงบุคคลที่ถูกคนอื่นบังคับเป็นสินค้าเท่านั้น แต่มีบุคคลที่นำตนเองไปให้คนอื่นใช้เป็นสินค้าอย่างสมัครใจ นี่เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่องอัตตาณัติต้องเผชิญในปัจจุบัน

ทั้งนี้สำหรับในบริบทการศึกษานั้น คำถามไม่ต้องเกี่ยวข้องกับข้อพิจารณาทางจริยศาสตร์ดังกล่าว เนื่องจากสามารถมุ่งตรงไปที่คำถามว่าในการกล่าวถึงการศึกษาที่มุ่งเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ของเด็กนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีพัฒนาการรับรู้กระทั่งถึงจุดที่ซาบซึ้งคุณค่าความเป็นคนแล้วหรือยัง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถสัมผัสความเป็นคนแล้วหรือยัง กล่าวได้หรือไม่ว่าถ้าไม่สามารถรับรู้ความเป็นคนของผู้หญิงได้ ก็น่าจะยากที่จะรับรู้ความเป็นคนของเด็ก

จะใช้เครื่องมือทดสอบง่ายๆ เช่นนี้ได้หรือไม่ คือ ยามที่ชมการประกวดนางงาม การถ่ายภาพปก/ปฏิทิน หรือรายการตลกที่มีการแทะโลมผู้หญิง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถรู้สึกสัมผัสถึงการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วหรือยัง ถ้าไม่ กล่าวได้หรือไม่ว่าประเด็นเรื่องการเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ของเด็กนั้น มิได้มีการรับรู้ความมีอยู่ของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นฐานรองรับ เป็นเพียงคำที่พูดต่อกันไปอย่างขาดแก่นสาร เห็นได้ว่าการสอบถามตนเองถึงการรับรู้ซึ่งค่าของคนนั้น ช่วยให้ไม่ต้องถกเถียงทางจริยศาสตร์ข้างต้น สำหรับผู้ที่สามารถรับรู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่บ้าง คงไม่สงสัยคำยืนยันนี้

———————————————————

3คำว่า “วัตถุทางเพศ” เป็นคำที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวิพากษ์เพื่อปลดปล่อยผู้หญิงไปจากการกดขี่หรือเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง แต่ในสังคมไทย กลับมีหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นคำที่ใช้สำหรับด่าประณาม