การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (4)

สอนให้เด็กใช้ความคิด หรือให้ข้อมูล/ความเข้าใจโลกพื้นฐาน หากละเลยด้านการส่งเสริมและให้เด็กตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง โดยปราศจากทักษะในการตัดสินใจและข้อมูลจะถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก แน่นอนว่าหากเข้าใจ “สิทธิ” หรือ “เสรีภาพ” โดยอาศัย “อัตตาณัติ” ก็กล่าวได้ว่ากรณีนี้เป็นการละเมิด “สิทธิ” หรือ “เสรีภาพ” ของเด็ก ข้อนี้เรียกได้ว่าเป็น “ปฏิทรรศน์” (paradox) แห่งเสรีภาพ คือ ในหลายกรณี การเคารพเสรีภาพ (ในความหมายของ “อัตตาณัติ”) เรียกร้องให้เข้าแทรกแซงเสรีภาพ (เช่น จำกัดการตัดสินใจเลือกของผู้อื่น) เนื่องจากบุคคลนั้นไม่อยู่ในภาวะที่สามารถตัดสินใจได้

อัตตาณัติมีอีกมิติหนึ่ง ซึ่งในจริยศาสตร์ยังมีจุดยืนที่ต่างกันออกไปว่าควรผนวกเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเกี่ยวกับการเคารพอัตตาณัติมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่ามิตินี้มีความจำเป็นเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับเด็ก มีแนวคิดว่าการพิจารณาเกี่ยวกับอัตตาณัติของบุคคลนั้น ต้องพิจารณาถึงปัจจัยอันส่งเสริมอัตตาณัติ ได้แก่ ปัจจัยที่ช่วยให้บุคคลสามารถตัดสินใจเลือกได้ เช่น การมีปัจจัยสี่ หรือตัดสินใจเลือกได้ดีขึ้น เช่น การมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งการมีคุณธรรม ปัจจัยหลังนี้ดูแปลกแยก แต่อันที่จริงจะเห็นได้ว่าบุคคลที่มีคุณธรรม (เช่น ความยับยั้งชั่งใจ ความขยันหมั่นเพียร) ย่อมสามารถตัดสินใจเลือก รวมถึงดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เลือกได้ดีกว่า เห็นได้ว่าสำหรับการฟูมฟักเด็กให้มีอัตตาณัติแล้ว ปัจจัยเหล่านี้นับว่าจำเป็น

เมื่อพิจารณาแนวคิดเรื่อง “อัตตาณัติ” แล้วจะเห็นว่าหากยึดถืออุดมคติแบบเสรีนิยม เป้าหมายการศึกษาก็คือการอบรมให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นบุคคลที่มีอัตตาณัติ คือ สามารถคิดอย่างมีข้อมูลเพื่อเลือกสิ่งต่างๆ ให้แก่ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เนื้อหา” ของเป้าหมายชีวิต ตามนัยนี้ เด็กต้องเข้าใจด้วยเหตุผลว่าทำไมจึงควรหรือไม่ควรเลือกสิ่งหนึ่งๆ และตัดสินใจเลือกไปตามเหตุผลนั้น แนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยไม่มากก็น้อย ดังจะเห็นหลายคนกล่าวว่าควรสอนให้เด็กตัดสินใจเลือกเอง แต่ในหลายๆ ส่วนก็ยังเห็นว่ามีคำตอบอยู่แล้วว่าควรจะเลือกอะไร

ทั้งนี้ มิได้กล่าวว่าการมีคำตอบเช่นนี้เป็นสิ่งไม่สมควร เนื่องจากสำหรับมนุษย์การจะกล่าวว่าไม่มีคำตอบนั้นเป็นไปไม่ได้ นอกเสียจากต้องให้เงื่อนไขคำกล่าวเช่นนี้อย่างชัดเจน แม้เสรีนิยมจะกล่าวอ้างว่าตนไม่ให้ “เนื้อหา” แต่อันที่จริงแล้วเนื้อหาก็คือ “จงอย่ากำหนดเนื้อหา” ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมเสรีนิยมบางส่วนต่อต้านท่าทีที่ยึดถือคำตอบบางอย่าง เช่น การเขียนภาพล้อเลียนศาสดาของบางศาสนาเพื่อท้าทายว่าไม่ควรคิดว่ามีคำตอบแน่ชัดเกี่ยวกับความหมายของชีวิต การมองเห็น “เนื้อหา” ของเสรีนิยมที่กล่าวอ้างว่า “ไม่ให้เนื้อหา” นี้เป็นข้อวิจารณ์สำคัญต่อเสรีนิยมในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายคนเห็นว่าการล้อเลียนดังกล่าวเป็นการกดขี่ทางวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเป็นลัทธิจักรวรรดินิยมที่มุ่งเปลี่ยนให้ทั่วโลกมีวัฒนธรรมเดียวกับตะวันตก

ในบริบทการศึกษา มีอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ดังกล่าวแล้วว่า “อัตตาณัติ” เป็นกรอบแนวคิดหลักในการทำความเข้าใจ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และแก่นแกนของ “อัตตาณัติ” คือสมรรถนะในการตัดสินใจเลือก ดังนั้น บุคคลทุกคนที่มีสมรรถนะดังกล่าวย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยทันที ดังนั้น ในการให้การศึกษาเด็ก ไม่เพียงแต่ครูจะต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กโดยเคารพ สมรรถนะดังกล่าวเท่านั้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เคารพ” ในความหมายของการส่งเสริม) หากแต่จะต้องช่วยให้เด็กเห็นว่าอะไรคือแก่นแกนของศักดิ์ศรี ผลที่สำคัญคือต้องแยกระหว่าง “คุณค่าของบุคคล” อันเนื่องมาจากความสำเร็จ (เช่น การได้คะแนนดี การชนะการประกวด การเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น) กับ “คุณค่าของบุคคล” ในความหมายของ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” (นั่นคือ ผู้กำหนดชะตาชีวิตของตน ผู้ตัดสินใจเลือกและรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจ) นัยสำคัญก็คือ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คนเราต่างก็มีศักดิ์ศรีทั้งนั้น