ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ตอนที่ 2

2000-6000 บาท หนึ่งวิชาต้องเรียนหลายคอร์ส หากจะเรียนครบหมดทุกวิชาย่อมต้องใช้เงินเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสน การจ่ายค่าหลักสูตรของสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงต้องไปโอนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ในวันที่กำหนด เป็นที่ทราบกันว่าวันแรกๆของการโอนเงินนั้นผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกได้ที่นั่งเรียนต้องไปยืนรอคิวที่หน้าประตูธนาคารเพื่อกรูกันไปที่เคาน์เตอร์เป็นคนแรกๆ เพราะบางหลักสูตรนั้นที่นั่งเต็มเร็วในเวลานับเป็นนาทีหลังธนาคารเปิดทำการไม่นาน

ชนชั้นกลางระดับล่างหรือระดับกลางที่กัดฟันอดออมเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกยังต้องพบความผิดหวังเมื่อพบว่าพลันที่ธนาคารเปิดทำการเวลา 08.30 น. ก็มีผู้ปกครองที่รู้ทางเข้าด้านหลังธนาคารยืนรอคิวที่เคาน์เตอร์ก่อนแล้ว จึงว่าความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเช้าตรู่

ค่าเรียนพิเศษ ค่ากวดวิชา ค่าติวเตอร์ ค่าเข้าค่ายติว เหล่านี้ นักเรียนจำนวนมากเสียซ้ำเสียซ้อนด้วยความกลัวจะไม่ได้เรียนเป็นที่ตั้ง

ค่าหอพักเป็นรายจ่ายอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ปกครองต้องเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่ ทุกปิดเทอมในเดือนตุลาคมหรือปิดภาคฤดูร้อน นักเรียนจำนวนมหาศาลจากทั่วทุกภาคหรือทุกจังหวัดของประเทศหลั่งไหลกันมาเช่าหอพักหรืออพาร์ตเมนต์อยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบสยามสแควร์ ราชเทวี ประตูน้ำ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปจนถึงสนามเป้าและสะพานควาย ราคาค่าหอพักมีตั้งแต่เดือนละ 5000-20000 บาทแล้วแต่คุณภาพและความสะดวกสบายของห้องพัก นักเรียนจากครอบครัวที่มีฐานะต่ำกว่าเล็กน้อยไม่สามารถสู้ค่าใช้จ่ายในกรุงเทพมหานครได้ก็จะส่งลูกไปพักตามหอพักที่เปิดรายรอบศูนย์รวมสถาบันกวดวิชาของภาคนั้นๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา เป็นต้น

ค่าหอพักเป็นรายจ่ายหลักอย่างที่สองรองจากค่าหลักสูตร รายจ่ายรองคือค่าเดินทางและค่าอาหารซึ่งสัมพันธ์กับค่าหอพักอีกทีหนึ่ง ค่าเดินทางไปกรุงเทพมหานครมีทั้งที่ผู้ปกครองขับรถไปส่ง นั่งรถทัวร์ นั่งรถไฟ หรือนั่งเครื่องบิน ในจังหวัดต่างๆทุกวันเสาร์อาทิตย์ ผู้ปกครองที่มีอันจะกินทุกบ้านมีหน้าที่ขับรถส่งลูกเรียนพิเศษตามที่ต่างๆในตัวเมืองตลอดทั้งวัน จากที่หนึ่งไปส่งอีกที่หนึ่ง หากไปส่งเร็วเกินไปก็นั่งรอ หากไปรับเร็วเกินไปก็นั่งรอ หากเป็นฤดูหนาวยังพอทำเนา หากเป็นฤดูร้อนผู้ปกครองหลายคนต้องเดินเครื่องรถเปิดแอร์รอนานเท่าไรก็ต้องรอ

ค่าอาหารสำหรับนักเรียนที่อาศัยหอพักเพื่อเรียนพิเศษลดหลั่นกันไปตามฐานะของผู้ปกครองรวมทั้งความเร่งรีบของการเรียน นักเรียนบางคนเริ่มเรียนตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปเรื่อยๆหลายวิชาโดยไม่มีพักจนกว่าจะเที่ยงวันหรือบ่ายโมง ระหว่างนั้นนักเรียนส่วนใหญ่อาศัยฟาสต์ฟู้ดหรือขนมกรุบกรอบและเครื่องดื่มสารพัดเป็นอาหาร เมื่อมีช่วงพักยาวจึงจะได้กินดีสักมื้อ อาหารในกรุงเทพมหานครราคาสูงกว่าในเมืองใหญ่ อาหารในเมืองใหญ่ราคาสูงกว่าจังหวัดข้างเคียง เหล่านี้เป็นอีกมิติหนึ่งของการจัดประเภทผู้ปกครองและนักเรียนตามฐานะการเงิน

หากไม่นับนักเรียนของโรงเรียนที่มีชื่อเสียง 2-3 โรงเรียนที่ไม่จำเป็นต้องกวดวิชาเลย นักเรียนทั้งประเทศหรืออีกนัยหนึ่งคือผู้ปกครองทั้งประเทศแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งสู้ค่าใช้จ่ายในกรุงเทพมหานครได้ กลุ่มที่สองสู้ค่าใช้จ่ายในหัวเมืองใหญ่ได้แต่ไม่สามารถส่งลูกไปเรียนกวดวิชาที่กรุงเทพมหานครได้ กลุ่มที่สามสู้ค่าใช้จ่ายในจังหวัดของตัวเองได้แต่ไม่สามารถส่งลูกไปเรียนกวดวิชาที่หัวเมืองใหญ่ได้ และกลุ่มที่สี่คือสู้ค่าใช้จ่ายเรียนพิเศษได้น้อยมากจนไร้ความหมายหรือสู้ไม่ได้เลย

นักเรียนกลุ่มที่ 1 หรือ 2 เท่านั้นที่สามารถสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่ดีมีชื่อเสียงได้และประกันรายได้ในอนาคตต่อไป นักเรียนกลุ่มที่ 3 หรือ 4 มักเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของจังหวัดที่ตนเองอาศัยอยู่ได้หรือเรียนต่อไม่ได้เลย

ประเด็นของเรื่องนี้คือความเหลื่อมล้ำเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อรู้ว่าครอบครัวของนักเรียนมีฐานะเป็นอย่างไรแล้ว พูดง่ายๆว่าแม้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะอ้างว่ายุติธรรมเพียงใดก็ตาม พลันที่นักเรียนออกสตาร์ทก็ไม่ยุติธรรมเสียตั้งแต่แรกแล้ว นักเรียนจากครอบครัวที่ฐานะดีกว่ามีโอกาสสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

อย่าลืมเรื่องข้อสอบโอเน็ตเกี่ยวกับกติกาเทนนิสที่นักเรียนยากดีมีจนต้องทำให้ได้เหมือนๆกัน

ทั้งหมดที่เล่ามาสามารถวิจัยเพื่อให้เห็นตัวเลขทั้งหมดได้ไม่ยาก ลองเริ่มด้วยการสำรวจนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือคณะยอดนิยมอื่นๆ เพื่อดูว่านักศึกษามาจากครอบครัวแบบใดและมีรายจ่ายเพื่อการศึกษานอกเหนือจากการศึกษาปกติมากเพียงไรก็จะเห็นความจริงได้โดยง่าย

พูดง่ายๆว่าลองสำรวจว่านักศึกษาแพทย์จำนวนเท่าใดที่มีบิดามารดาเป็นนายแพทย์อยู่ก่อนแล้ว

“มีต่อ”