ทักษะแห่งศตวรรษที่21 ตอนที่ 4

Learning by Action(Active Learning)ให้แก่เด็กประถม6ปีและเด็กมัธยมอีก6ปี เวลายาวนานต่อเนื่อง12ปีที่เด็กไทยต้องฝึกใช้ทักษะการทำงานร่วมกันทุกๆวันย่อมทำให้เด็กมีวุฒิภาวะทางอารมณ์โดยธรรมชาติ นั่นคือ เด็กและเยาวชนไทย “จัดการ” อารมณ์ตนเองได้ คำว่าจัดการแปลว่าจัดการ มิได้แปลว่าควบคุมหรือไม่ให้มี คนเรารัก โลภ โกรธ หลงได้เป็นธรรมดาแต่จะจัดการอย่างไร นักเรียนไทยรักกันได้แต่ระวังโรคและการตั้งครรภ์ โลภได้แต่อย่าเข้าไปในเว็บการพนันออนไลน์ โกรธได้แต่อย่ายกพวกตีกันหรือนัดตบกันหลังโรงเรียน หลงได้แต่ไม่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนทุกสองเดือน ฯลฯ คงเห็นพ้องกันว่าสถานการณ์เด็กและวัยรุ่นไทยปัจจุบันทำทั้งหมดที่ว่ามาคือยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์

วุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่เกิดจากการสั่งสอนอย่างแน่นอน แต่เกิดจากการปะทะทางอารมณ์ซึ่งกันและกันและเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมว่าในสังคมใดๆ ณ บริบทและเวลาใดๆ เราควรจัดการอารมณ์อย่างไร

การศึกษาที่มุ่งเน้นการมอบความรู้ หลักสูตร การสอบ ความเป็นเลิศ จะกำหนดให้นักเรียนไทยมีพฤติกรรมตัวใครตัวมัน ทุกคนมีภารกิจเรียนให้เก่งแต่ขาดโอกาสปะทะสังสรรค์กับเพื่อนในทางสร้างสรรค์

ทักษะการใช้ชีวิตแบ่งเป็นทักษะย่อย4ขั้นตอนคือ รู้จุดมุ่งหมายของชีวิต รู้จักค้นหาทางเลือกและตัดสินใจ รู้จักรับผิดชอบผลลัพธ์ของการเลือกหรือการกระทำของตนเอง รู้จักยืดหยุ่น ทักษะย่อยที่สามคือรู้จักรับผิดชอบผลลัพธ์ของการเลือกหรือการกระทำของตนเองเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาจริยธรรม(ethics)

จริยธรรมมิใช่ศีลธรรม(moral) จริยธรรมเป็นทักษะ(skill)ซึ่งต้องการการฝึกอย่างต่อเนื่อง จริยธรรมไม่เกิดจากการเทศนาสั่งสอน เราต้องโยนเด็กของเราลงสู่สถานการณ์ที่เขาได้เรียนรู้และฝึกทักษะที่จะมีจริยธรรม

คนทุกอาชีพต้องมีจริยธรรม อาชีพที่มีอำนาจเหนือผู้อื่นยิ่งต้องมีจริยธรรมกำกับมิให้ใช้อำนาจนั้นไปในทางที่เป็นผลเสียต่อส่วนรวม ดังนั้นนักการเมือง หมอ ครู ผู้พิพากษา ตำรวจ จึงเป็นวิชาชีพที่ต้องมีจริยธรรมแข็งแกร่ง เพราะบุคคลเหล่านี้กำความรู้และถืออำนาจไว้ในมือสูง แต่แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งก็มิใช่ข้อยกเว้น การเสียบลูกชิ้นต้องเสียบให้ตรงเป็นแนวศูนย์กลางโดยสม่ำเสมอมิเช่นนั้นเวลาปิ้งก็จะสุกไม่เท่ากันทำให้คนกินเดือดร้อนได้ ส่วนที่ไม่สุกก็ทำให้ท้องเสียหรือมีพยาธิ ส่วนที่สุกเกินจนไหม้เกรียมก็ก่อสารพิษและอาจจะก่อมะเร็ง เป็นต้น

แต่เพราะชีวิตเลือกได้และมีความยืดหยุ่น(resiliency) ดังนั้นเด็กประถมและมัธยมควรมีเวลา12ปีในการเรียนรู้แบบActive Learningเพื่อที่จะได้รับรู้ผลลัพธ์ของการกระทำของตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในทีม และตัดสินใจเอาเองว่าตนเองจะใช้ชีวิตที่มีระดับจริยธรรมมากน้อยเพียงไร ให้รู้ว่าการใช้ชีวิตอย่างไรล้วนมีราคาต้องจ่ายทั้งสิ้น

คุณหมอที่ไม่รับของกำนัลจากบริษัทยาเลยแม้กระทั่งปากกาสักด้ามหรือกระดาษทิชชูสักกล่องมีราคาของชีวิตที่ต้องจ่าย คุณหมอที่รับทุนบริษัทยาไปต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอก็มีราคาของชีวิตที่ต้องจ่าย คุณหมอสองท่านนี้มีฐานะต่างกัน ความสุขความทุกข์ต่างกัน

คุณครูที่ไม่คำนึงถึงนักเรียนที่เรียนอ่อนเอาแต่สนใจนักเรียนที่เรียนเก่ง กับคุณครูที่สนใจนักเรียนทั่วทั้งห้องเสมอหน้ากัน ทั้งสองท่านเลือกชีวิตของตนเองและมีราคาของชีวิตที่ต้องจ่ายเช่นกัน รายได้ต่างกัน ความสุขความทุกข์ในใจนั้นต่างกัน

เรื่องเช่นนี้ยากต่อการตัดสินผิดถูกแต่ง่ายต่อการฝึกทักษะหากเด็กนักเรียนได้รับโอกาสฝึกทักษะ

พัฒนาการทางอารมณ์และพัฒนาการทางจริยธรรมเป็นนามธรรม Mahler และ Kohlberg อาจจะเขียนทฤษฎีพัฒนาการสองเรื่องนี้ไว้ชัดเจนและลึกซึ้ง แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติในประเทศไทยได้หากขาดการลงมือปฏิบัติ

การปฏิวัติการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคนจึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลงมือปฏิบัติ

หนทางเพื่อพัฒนาทักษะทั้ง 3 ประการ

1. พ่อแม่ ผู้ปกครองควรรู้เท่าทันการศึกษาที่เป็นอยู่ก่อน ปัจจุบันพ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนมากยังติดอยู่ที่กระบวนทัศน์เก่านั่นคือมุ่งหวังให้โรงเรียนสอนหนังสือมากๆและลูกของตนเป็นเด็กเก่ง คาดหวังลูกของตนเองจะเป็นผู้ชนะในการศึกษาและมีฐานะทางสังคมที่ดีขึ้นหรือธำรงสถานะทางสังคมที่เป็นอยู่ นี่คือทัศนะที่มีความเสี่ยงสูง

2. ครูต้องยอมรับว่าบทบาทการสอนหนังสือที่เป็นอยู่เป็นบทบาทในกระบวนทัศน์เก่าซึ่งนอกจากไร้ผลแล้วยังมีแรงเสียดทานในการทำงานมากขึ้นทุกขณะ ครูยังคงเป็นบุคคลสำคัญอันดับหนึ่งในการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางการทำงาน

3. ผู้ใหญ่ในสังคมที่รับผิดชอบการประเมินคุณภาพโรงเรียนและการทดสอบต่างๆควรยอมรับว่าการทำงานในกระบวนทัศน์เก่าเป็นอันตรายต่อระบบและเป็นอันตรายต่อเด็กไทย ควรศึกษากระบวนทัศน์ใหม่และเปลี่ยนแปลงวิธีประเมินคุณภาพโรงเรียนและวิธีการสอบระดับชาติในรูปแบบต่างๆ

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชนและครูที่พร้อมจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงาน ควรรู้เท่าทันว่าการศึกษาที่เป็นอยู่มีแต่จะนำลูกหลานไปสู่ทางตัน เด็กเรียนเก่งรู้มากแต่ใช้ชีวิตไม่เป็น เด็กเรียนแพ้มีมากกว่าเด็กเรียนชนะแล้วก็ใช้ชีวิตเสี่ยง เด็กถูกเทคโนโลยีสารสนเทศกระทำแทนที่จะเป็นฝ่ายเสพข้อมูลข่าวสารและใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด

พ่อแม่ ผู้ปกครองซึ่งเป็น demand side ควรร่วมกันเรียกร้องรัฐให้มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน ให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมดังนี้

1.เปลี่ยนครู จากผู้สอน(teacher) ให้เป็นโค้ช(coach)และผู้นำกระบวนการเรียนรู้(facilitator)

2.เปลี่ยนห้องเรียน จากห้องเรียนแบบ classroom เป็นพื้นที่การเรียนรู้ learning studio ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ประชุม พื้นที่ปฏิบัติการ พื้นที่เทคโนโลยีสารสนเทศ และพื้นที่สันทนาการ

3.เปลี่ยนโรงเรียน จากที่เป็นศูนย์การสอน เป็น ศูนย์กลางการเรียนรู้

4.เปลี่ยนการประชุมครู จากที่ประชุมครูในรูปแบบเดิม เป็น ชุมชนแห่งการเรียนรู้คือ Professional Learning Community(PLC) นั่นคือครูพบกันเพื่อประเมินผลการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนในทุกๆวัน ด้วยกระบวนการ After Action Review(AAR)

5.เปลี่ยน หลักสูตร เป็น การเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำคือ Active Learning(AL) ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปการเรียนรู้ผ่านโครงงานคือ Project-Based Learning(PBL) หรือการเรียนรู้ผ่านปัญหาคือ Problem-Based Learning(PBL) ก็ได้ ทั้งนี้โดยมีความเชื่อมโยงกับชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่

6.เปลี่ยนการสอบเพื่อประเมินได้ตก(examination)เป็นการประเมินนักเรียนเพื่อดูความก้าวหน้าของทักษะทั้งสามประการ(formative assessment)เป็นรายบุคคลอย่างเป็นมิตรและเป็นจริง(friendly and genuinely)

7.หลอมรวมกลุ่มสาระวิชาทั้งหมดแล้วแตกออกเป็นวิชาจำเป็นพื้นฐาน 3 วิชาคือ การอ่าน(reading) การเขียน(writing) คณิตศาสตร์(arithmatics) และวิชาสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต 4 วิชา คือ สุขภาพ(Health literacy) เศรษฐศาสตร์(Economics literacy) สิ่งแวดล้อม(Environment literacy) และความเป็นพลเมือง(Civil education) โดยยึดหลักเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ และฝึกทักษะการเรียนรู้มากกว่าการมอบความรู้

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจ ซึ่งมีประสบการณ์รับบัณฑิตและผิดหวังกับคุณภาพของบัณฑิตไทยสามารถมีส่วนร่วมในการเรียกร้องร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองชุมชนและครูที่พร้อมจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงาน เรียกร้องและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน

คุณลักษณะที่คาดหวังได้จากเด็กไทยในศตวรรษที่ 21

เด็กไทยจะเป็นคนอยากรู้ ใฝ่เรียนรู้ รู้วิธีหาความรู้ สามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา กล้าตั้งข้อสงสัย รู้วิธีตั้งคำถาม สามารถทำงานเป็นทีม มีความคิดสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรม ในขณะเดียวกันรู้จุดหมายของชีวิต มีแรงบันดาลใจและรู้จักวางแผน กล้าตัดสินใจและรับผิดชอบผลลัพธ์ของการตัดสินใจ ทำงานมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ รู้จักการประเมินตนเองและมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้คือรู้ทันข้อมูลข่าวสารและรู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่อย่างชาญฉลาด