16 อย่าเรียนหนังสือคนเดียว

สร้อยลูกปัดหลากสี ภาพเขียนสีบนฝาผนัง และเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำด้วยกระดูกหรือหิน

การอุบัติใหม่ของนวัตกรรมเหล่านี้ดูคล้ายจะบอกเป็นนัยว่า ได้เกิดการผ่าเหล่าในพันธุกรรมของมนุษย์แล้ว และการโผล่พรวดของหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้คล้ายจะบอกว่า มนุษย์พันธุ์โฮโมเซเปียนส์นี้ฉลาดขึ้นทันทีทันใด เสมือนหนึ่งการกำเนิดของเอกภพที่เรียกว่าบิ๊กแบง (Big Bang) ทั้งที่มนุษย์พันธุ์นี้ (ก็คือพวกเราทุกวันนี้) ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ ๒ แสนปีก่อน

การขุดค้นทางโบราณคดีด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ช่วยให้ค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ๆ ว่า มีอะไรที่เรียกว่านวัตกรรมก่อนเวลา ๒ แสนปีสุดท้ายนี้ ลิน แวดเลย์ จากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ได้เริ่มงานขุดค้นในถ้ำซิบูดู อาฟริกาใต้ตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ และตีพิมพ์การค้นพบ “ที่นอน” ที่ทำด้วยใบไม้ในนิตยสาร Science เมื่อเดือนธันวาคม ๒๐๑๑ ที่นอนนี้มีอายุ ๗๗,๐๐๐ ปี ทำขึ้นจากใบของต้น Cryptocarya woodii ซึ่งมีคุณสมบัติไล่ยุงและแมลง นอกจากนี้ ยังพบกับดักจับกวาง คันธนูและลูกศร รวมทั้งน้ำยาสำหรับใช้ในครัวเรือนที่อยู่อาศัยอีกบางอย่าง

การขุดค้นที่ทำกันอย่างกว้างขวางในอาฟริกาอีกสองจุด ค้นพบหลักฐานคล้ายๆ กันนี้ที่มีอายุ ๑ แสนปี และ ๑๖๔,๐๐๐ ปี สิ่งที่เราเคยเรียนกันมาว่า อารยธรรมมนุษย์เริ่มต้นเมื่อ ๓ หมื่นปีก่อนเริ่มไม่เป็นความจริงเสียแล้ว ที่อิตาลี ทีมขุดค้นจากมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ขุดพบกาวที่ใช้ประกบหินเข้ากับไม้เพื่อทำอาวุธอายุ ๒ แสนปีของมนุษย์พันธุ์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthals) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ ๓ แสนปีก่อน เก่ากว่านี้อีกคือหอกอายุ ๕ แสนปีของมนุษย์พันธุ์ไฮเดลเบอร์เจนซิส (Homo heidelbergensis) ในอาฟริกาใต้ และเครื่องมือที่ทำด้วยหินอายุ ๒ ล้าน ๖ แสนปีของมนุษย์พันธุ์ออสตราโลพิเทคัส การี (Australopithecus garhi) ที่เอธิโอเปีย

ใครเป็นคนคิดค้นเครื่องมือเหล่านี้คนแรก

แล้วเพราะอะไร ลิงชิมแปนซีซึ่งแยกสายวิวัฒนาการจากมนุษย์ปัจจุบันเมื่อ ๖ ล้านปีก่อน จึงยังคงใช้กิ่งไม้จิ้มรังมดเอามดขึ้นมากินเหมือนเดิมโดยไม่มีเครื่องมืออะไรใหม่ๆ เลย

จากงานวิจัยทางสมองยุคใหม่พบว่า ขนาดของโพรงในกะโหลกศีรษะ (ซึ่งเป็นที่อยู่ของเนื้อสมอง)ของลิงชิมแปนซีเท่ากับ ๔๕๐ ลูกบาศก์เซนติเมตรเท่ากับมนุษย์ตระกูลออสตราโลพิเทคินตัวเลขนี้เพิ่มเป็นสองเท่าคือ ๙๓๐ ลูกบาศก์เซนติเมตรในมนุษย์พันธุ์โฮโมอีเรคตัส (Homo erectus) เมื่อ ๑ ล้าน ๖ แสนปีก่อน แล้วเพิ่มเป็น ๑,๓๓๐ ลูกบาศก์เซนติเมตรในมนุษย์พันธุ์โฮโมเซเปียนส์ คือพวกเราตั้งแต่ ๑ แสนปีก่อน

แต่ก็อย่าลืมว่าเมื่อ ๑ แสนปีก่อน เราไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ เราตีกลองส่งสัญญาณกัน เกิดอะไรขึ้นในหนึ่งแสนปีที่ผ่านมา

สมองของมนุษย์มีเซลล์ประสาทจำนวน ๑ ล้านล้านเซลล์ มีเส้นประสาทยาวประมาณ ๑๖๕,๐๐๐ กิโลเมตร มีจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท (synapses) รวมทั้งสิ้น ๑๕๐ ล้านล้านตำแหน่ง หากดูเฉพาะสมองส่วนหน้าของส่วนหน้าที่เรียกว่า prefrontal cortex ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้วางแผน เชื่อมโยงข้อมูล แล้วตัดสินใจลงมือกระทำ สมองส่วนนี้ของมนุษย์ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ที่สุด ขนาดที่เพิ่มขึ้นมานี้เป็นที่อยู่ของข่ายใยประสาท (neuronal networks) จำนวนมหาศาลที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างทั่วถึง

วิทยาศาสตร์พบว่า จำนวนของเซลล์สมองยังมิใช่คำตอบของความฉลาด คำตอบอยู่ที่ข่ายใยประสาทที่เชื่อมต่อและเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง และกว้างขวางในโพรงสมองขนาดใหญ่นั้นมากกว่า

การเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงในสมอง เกิดขึ้นได้ด้วยการเชื่อมโยงอย่างทั่วถึงในชีวิต

เลวิส ดีน นักพฤติกรรมศาสตร์มนุษย์และวานรจากลอนดอนตีพิมพ์งานวิจัยในนิตยสาร Science ทีมวิจัยออกแบบกล่องปริศนาที่ต้องใช้การแก้ ๓ ขั้นตอน ให้กลุ่มทดลอง ๓ กลุ่มทำแข่งกัน กลุ่มหนึ่งคือลิงชิมแปนซีที่เท็กซัส กลุ่มสองคือลิงคาปูชีนที่ฝรั่งเศส และกลุ่มสามคือเด็กในศูนย์เด็กเล็กที่อังกฤษ

ชิมแปนซีและคาปูชีน ๕๕ ตัว มีลิงที่แก้ปริศนาสำเร็จเพียงตัวเดียวโดยใช้เวลา ๓๐ ชั่วโมง เด็กเล็ก ๑๕ จาก ๓๕ คนสามารถแก้ปริศนาสำเร็จในเวลา ๒ ชั่วโมงครึ่ง จากการสังเกตพบว่า เด็กเล็กคุยกัน เถียงกัน ช่วยเหลือกัน และให้กำลังใจกัน ขณะที่ลิงไม่มีพฤติกรรมเหล่านี้เลย

เพราะอะไรมนุษย์ในยุโรปเมื่อ ๔ หมื่นปีก่อน จึงพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในการล่าและดำรงชีวิตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับมนุษย์ในอาฟริกาเมื่อ ๙ หมื่นปีก่อน คำอธิบายคือ เพราะพื้นที่ที่เล็กกว่าทำให้มนุษย์มีโอกาสพบกันและรวมทีมกันออกล่ามากกว่า การกระทบไหล่กันอยู่เนืองนิตย์คือเหตุผลที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์วิวัฒน์และมีนวัตกรรมหลุดออกมาจากกล่องในที่สุด (out of the box)

เด็กไม่ได้พัฒนาหรือฉลาดขึ้นด้วยการเรียนหนังสือคนเดียว เด็กฉลาดและพัฒนาสมองของตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรมได้ด้วยการเรียนรู้เป็นกลุ่ม

พูดง่ายๆ ว่าด้วยการกระแทกไหล่กับเด็กคนอื่นๆ