8 การเล่นสมมติกับพัฒนาการด้านภาษา

บ่ายวันนั้น เมื่อผมไปถึงบ้านของหลานสาว เธอขนเครื่องมือเล่นทรายกองใหญ่ออกมาเทลงบนพื้น โดยไม่ได้คิดอะไร ผมหยิบล้อเข็นพลาสติกที่ใช้ใส่อุปกรณ์เล่นทรายมาตั้ง แล้วเริ่มชวนเธอเล่น

“มาล้างกระทะกัน” ว่าแล้วจึงหยิบบล็อกไม้ขึ้นมาแล้วทำท่าขัดกระทะสมมติใบนั้น ปากทำเสียงชู่ช่าๆ “ใส่ผงซักฟอกด้วย” ชู่ช่าๆ “สะอาดแล้ว ล้างน้ำ” ระหว่างนั้นเธอหยิบบล็อกไม้อีกชิ้นมาช่วยผมและพูด “ขัดกะต๊ะๆ”

“ต่อไปเราจะทอดไก่นะ” ผมว่าต่อ “เปิดเตาแก๊ส” พูดแล้วทำมือสมมติว่าเปิดเตาแก๊ส “แชะ” หลานสาวทำท่าตามแล้วพูดตาม “เปอดตาแก๊ด แชะ” เธอพูดยังไม่ชัดหรอกครับ

“ต่อไปใส่น้ำมันหมู” ผมคว้าตุ๊กตาหมูมาทำท่าเทน้ำมันลงในกระทะสมมติ “ซู่” ทำเสียงน้ำมันร้อน “ร้อนๆๆ” หลานสาวทำตามแล้วร้องตาม “ล้อนๆๆ” ผมไม่ลืมใช้เวลานั้นสอนเธอว่าห้ามเปิดเตาแก๊สจริงๆและระวังกระทะร้อนด้วย เธอพูดว่า “โนโน จิงจิง ล้อนล้อน”

จากนั้นเราหากระดาษมาฉีกเป็นชิ้นๆ เธอยังไม่ครบสองขวบจึงยังฉีกกระดาษไม่ได้ ผมช่วยด้วยการฉีกกระดาษเป็นแนวยาวเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวแล้วยื่นให้เธอฉีกเป็นท่อนสั้นๆ เธอใช้วิธีดึงให้ขาดบ้าง ฉีกได้บ้าง “มาผัดผักกันนะจ๊ะ” ผมเอาเศษกระดาษใส่กระทะสมมติ เธอทำตามพูดว่า “ปัดปักนะๆ”

“คราวนี้ไก่อยู่ไหน” ผมถาม เธอลุกไปหยิบตุ๊กตาไก่ตัวเล็กมาหนึ่งตัวและพูดว่า “ไก่ อยู่นี่เอง” เราเอาไก่ลงกระทะ จากนั้นผมยื่นพลั่วเล่นทรายกับช้อนตักทรายให้เธอ ส่วนผมใช้เสียมและคราดตักทราย ทั้งหมดนี้เป็นของเล่นพลาสติก “มา มาผัดไก่กะผักกันนะ” เราสองคนทำท่าผัดไก่กะผักเลียนแบบคุณยายของเธออย่างสนุกสนาน

“ไหน ชิมซิ” ผมแสร้งตักน้ำแกงขึ้นมายื่นให้ เธอชิมแล้วส่งเสียง อ้า “เค็มมั้ย” ผมถาม เธอยังไม่ทันตอบผมก็ไปต่อเลย “ยังไม่เค็ม เอาเกลือมา” ว่าแล้วเราก็ช่วยกันหาบล็อกไม้อีกอันหนึ่งมาสมมติเป็นขวดเกลือ ผมทำท่าเหยาะเกลือ เธอแย่งไปจากผมแล้วว่า “ใบบัวตักเอง” จากนั้นเธอเอาตะหลิวสมมติในมือมาทำท่าตักเกลือจากบล็อกไม้ใส่กระทะแล้วนับเลขตาม “หนึ่ง สอง สาม”

ผมชวนเธอใส่น้ำตาล ใส่พริกไทย ชวนเธอใส่ถุงมือ ใส่ผ้ากันเปื้อน ชวนเธอทำต้มจืดลูกชิ้น อันนี้ง่ายหยิบลูกบอลเล็กๆแถวนั้นมาสมมติเป็นลูกชิ้น ที่สนุกที่สุดคือสมมติว่าที่ฝาตู้ข้างๆเป็นก๊อกน้ำเย็นกับก๊อกน้ำร้อน เธอสนุกกับการเปิดก๊อกน้ำเย็นลงถ้วยสมมติแล้วยกดื่มหลายสิบครั้ง ส่วนผมสนุกกับการสมมติว่ากดผิดก๊อกแล้วทำน้ำร้อนลวกปากหลายครั้ง แต่ละครั้งเธอก็จะว่า “น้ำร้อน น้ำร้อน โน โน โน” เสมอ

เราเล่นกันนานมากกว่าหนึ่งชั่วโมง หลังจากลูกสองคนโตแล้วผมไม่เคยเล่นสนุกแบบนี้นานมากแล้ว

คนส่วนใหญ่คิดว่าเด็กจะพูดเก่งจากการอ่านหนังสือให้เด็กฟังหรือจากการที่พ่อแม่หรือพี่เลี้ยงพูดคุยกับเด็กมากๆ ความคิดเช่นนี้มีส่วนถูกแต่ก็ไม่ทั้งหมด แท้จริงแล้วเด็กอายุ 18-36 เดือนโดยประมาณจะเป็นวัยที่มีพัฒนาการด้านภาษาเร็วมากจากการเล่นสมมติ

การเล่นสมมติหรือ symbolic play หมายถึงเด็กสามารถใช้วัสดุหนึ่งแทนอีกวัสดุหนึ่ง ใช้การกระทำหนึ่งแทนอีกการกระทำหนึ่ง ใช้ความคิดหนึ่งแทนอีกความคิดหนึ่ง ความสามารถทั้งสามประการนี้ทำให้เธอคิดว่าตนเองกำลังทำครัว โดยทำท่าทางล้างกระทะ เปิดเตาแก๊ส ใส่น้ำมัน ใส่ผัก เติมลูกชิ้น เติมน้ำตาล ใส่เกลือ เหยาะพริกไทย ทดลองชิม ตามที่เราคอยชี้แนะและใช้ของเล่นพลาสติกอะไรก็ได้แทนกระทะ ตะหลิว ขวดเกลือ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราจะชวนเขาเล่น

จะเห็นว่าต้องการเวลาและจินตนาการจากพ่อแม่พอสมควร

เด็กที่เล่นสมมติมากจะมีพัฒนาการทางภาษาเร็วกว่า รู้จักพูดและใช้คำศัพท์ ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยากเพราะระหว่างที่เล่นด้วยกันนั้นเอง เขามีปฏิสัมพันธ์กับเราตลอดเวลา ทั้งที่เป็นคำพูดและกริยาท่าทางที่ไม่ได้พูด เช่น “สนใจ” ดังว่า

เทียบกับการปล่อยให้เด็กเล็กใช้นิ้วเดียวเขี่ยสมารทโฟนหรือแท็บเล็ทให้เปลี่ยนหน้าเล่น ประโยชน์ที่ได้รับต่างกันไกล ต่อให้มีพ่อแม่นั่งเขี่ยสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ทด้วยกัน เปิดคลิปดีๆจากยูทูบให้เด็กเล็กดู คุณค่าของการเล่นก็ยังคงต่างกันลิบลับ

หากเปรียบเทียบกับจับลูกนั่งหน้าจอแล้วเปิดการ์ตูนให้ลูกนั่งนิ่งๆดู ยิ่งเทียบกันมิได้

การเล่นสมมติเป็นการเล่นที่ง่ายที่สุดในโลก ไม่ต้องการเงินทุน ไม่ต้องการสถานที่ ใช้อะไรก็ได้ เล่นที่ไหนก็ได้ ดีที่สุดคือฝนตกไปไหนกันไม่ได้ก็เล่นได้ ไฟดับไม่มีอะไรให้ทำก็ยังเล่นได้ ที่ต้องการคือ “เวลาของคุณพ่อคุณแม่”

เด็กสมัยนี้นั่งเขี่ยสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตกันมาก พ่อแม่จำนวนหนึ่งคิดว่าเด็กฉลาดและตนเองก็สบายดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นอันตรายต่อพัฒนาการเด็กครับ