7 ทักษะในศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ และจริยธรรมอย่างไร

คำว่าจัดการแปลว่าจัดการ มิได้แปลว่าควบคุมหรือไม่ให้มี คนเรารัก โลภ โกรธ หลงได้เป็นธรรมดาแต่จะจัดการอย่างไร นักเรียนไทยรักกันได้แต่ระวังโรคและการตั้งครรภ์ โลภได้แต่อย่าเข้าไปในเว็บการพนันออนไลน์ โกรธได้แต่อย่ายกพวกตีกันหรือนัดตบกันหลังโรงเรียน หลงได้แต่ไม่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนทุกสองเดือน ฯลฯ คงเห็นพ้องกันว่าสถานการณ์เด็กและวัยรุ่นไทยปัจจุบันทำทั้งหมดที่ว่ามาคือยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์

วุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่เกิดจากการสั่งสอนอย่างแน่นอน แต่เกิดจากการปะทะทางอารมณ์ซึ่งกันและกันและเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมว่าในสังคมใดๆ ณ บริบทและเวลาใดๆ เราควรจัดการอารมณ์อย่างไร

การศึกษาที่มุ่งเน้นการมอบความรู้ หลักสูตร การสอบ ความเป็นเลิศ จะกำหนดให้นักเรียนไทยมีพฤติกรรมตัวใครตัวมัน ทุกคนมีภารกิจเรียนให้เก่งแต่ขาดโอกาสปะทะสังสรรค์กับเพื่อนในทางสร้างสรรค์

ทักษะการใช้ชีวิตแบ่งเป็นทักษะย่อย4ขั้นตอนคือ รู้จุดมุ่งหมายของชีวิต รู้จักค้นหาทางเลือกและตัดสินใจ รู้จักรับผิดชอบผลลัพธ์ของการเลือกหรือการกระทำของตนเอง รู้จักยืดหยุ่น ทักษะย่อยที่สามคือรู้จักรับผิดชอบผลลัพธ์ของการเลือกหรือการกระทำของตนเองคือ accountability เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาจริยธรรม(ethics)

จริยธรรมมิใช่ศีลธรรม(moral) จริยธรรมเป็นทักษะ(skill)ซึ่งต้องการการฝึกอย่างต่อเนื่อง จริยธรรมไม่เกิดจากการเทศนาสั่งสอน เราต้องโยนเด็กของเราลงสู่สถานการณ์ที่เขาได้เรียนรู้และฝึกทักษะที่จะมีจริยธรรม

คนทุกอาชีพต้องมีจริยธรรม อาชีพที่มีอำนาจเหนือผู้อื่นยิ่งต้องมีจริยธรรมกำกับมิให้ใช้อำนาจนั้นไปในทางที่เป็นผลเสียต่อส่วนรวม ดังนั้นนักการเมือง หมอ ครู ผู้พิพากษา ตำรวจ จึงเป็นวิชาชีพที่ต้องมีจริยธรรมแข็งแกร่ง เพราะบุคคลเหล่านี้กำความรู้และถืออำนาจไว้ในมือสูง แต่แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งก็มิใช่ข้อยกเว้น การเสียบลูกชิ้นต้องเสียบให้ตรงเป็นแนวศูนย์กลางโดยสม่ำเสมอมิเช่นนั้นเวลาปิ้งก็จะสุกไม่เท่ากันทำให้คนกินเดือดร้อนได้ ส่วนที่ไม่สุกก็ทำให้ท้องเสียหรือมีพยาธิ ส่วนที่สุกเกินจนไหม้เกรียมก็ก่อสารพิษและอาจจะก่อมะเร็ง เป็นต้น

แต่เพราะชีวิตเลือกได้และมีความยืดหยุ่น(resiliency) ดังนั้นเด็กประถมและมัธยมควรมีเวลา12ปีในการเรียนรู้แบบActive Learningเพื่อที่จะได้รับรู้ผลลัพธ์ของการกระทำของตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในทีม และตัดสินใจเอาเองว่าตนเองจะใช้ชีวิตที่มีระดับจริยธรรมมากน้อยเพียงไร ให้รู้ว่าการใช้ชีวิตอย่างไรล้วนมีราคาต้องจ่ายทั้งสิ้น

คุณหมอที่ไม่รับของกำนัลจากบริษัทยาเลยแม้กระทั่งปากกาสักด้ามหรือกระดาษทิชชูสักกล่องมีราคาของชีวิตที่ต้องจ่าย คุณหมอที่รับทุนบริษัทยาไปต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอก็มีราคาของชีวิตที่ต้องจ่าย คุณหมอสองท่านนี้มีฐานะต่างกัน ความสุขความทุกข์ต่างกัน

คุณครูที่ไม่คำนึงถึงนักเรียนที่เรียนอ่อนเอาแต่สนใจนักเรียนที่เรียนเก่ง กับคุณครูที่สนใจนักเรียนทั่วทั้งห้องเสมอหน้ากัน ทั้งสองท่านเลือกชีวิตของตนเองและมีราคาของชีวิตที่ต้องจ่ายเช่นกัน รายได้ต่างกัน ความสุขความทุกข์ในใจนั้นต่างกัน

เรื่องเช่นนี้ยากต่อการตัดสินผิดถูกแต่ง่ายต่อการฝึกทักษะหากเด็กนักเรียนได้รับโอกาสฝึกทักษะ

พัฒนาการทางอารมณ์และพัฒนาการทางจริยธรรมเป็นนามธรรม Mahler และ Kohlberg อาจจะเขียนทฤษฎีพัฒนาการสองเรื่องนี้ไว้ชัดเจนและลึกซึ้ง แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติในประเทศไทยได้หากขาดการลงมือปฏิบัติ

การปฏิวัติการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคนจึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลงมือปฏิบัติ