อุ้มบุญ (23) ข้อพิจารณาและผลกระทบทางการวิจัยทางการแพทย์และเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

1. การฉีดเชื้อหรือการผสมเทียม

การฉีดเชื้อหรือการผสมเทียม เป็นเทคโนโลยีง่ายๆ ที่แพทย์นำเอาเชื้ออสุจิของฝ่ายชายฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง แล้วปล่อยให้มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

2. เทคนิคการทำกิ๊ฟ (Gamete Intra-Fallopian Transfer, GIFT)

โดยทั่วไปวิธีการนี้จะเป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างแท้จริงคือ การนำไข่ของฝ่ายหญิงที่เก็บไข่ออกมาจากร่างกายไว้ล่วงหน้า ซึ่งโดยปกติแพทย์จะต้องกระตุ้นไข่ให้เกิดการตกไข่พร้อมกันหลายฟอง แล้วนำมาผสมกับเชื้ออสุจิในห้องทดลอง หลังจากนั้นแพทย์ก็จะเอาไข่กับเชื้ออสุจิใส่กลับเข้าไปโดยเจาะหน้าท้องและใส่กลับทางหลอดมดลูก และปล่อยให้ผสมกันตามธรรมชาติภายในร่างกาย

3. เทคนิคการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization and Embryo Transfer)

เทคนิคคล้ายๆ กับการทำ GIFT โดยแพทย์จะเก็บไข่ไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกัน แต่จะนำไข่และอสุจิผสมกันในห้องทดลอง และจากหลังจากไข่กับอสุจิผสมกันเรียบร้อย แพทย์จะรอจนแบ่งตัวเป็นตัวอ่อนแล้วระดับหนึ่ง จึงจะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูกผ่านทางช่องคลอด

4. เทคนิคการทำอิกซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection (ICSI)

สำหรับการทำอิกซี่จะทำในกรณีที่ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิจำนวนน้อยหรือไม่มีเชื้ออสุจิเลย แพทย์จะเข้าไปเก็บเชื้ออสุจิจากอัณฑะของฝ่ายชาย แล้วนำมาฉีดผสมเข้าไปในไข่ จนพัฒนาเป็นตัวอ่อน แล้วแพทย์จึงนำตัวอ่อนนั้นใส่กลับเข้าไปในมดลูกเหมือนกับการทำเด็กหลอดแก้ว ขั้นตอนของการทำอิกซี่จะแตกต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วเพียงขั้นตอนเดียวคือ การทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์จะปล่อยให้เชื้ออสุจิกับไข่ผสมกันเอง ในขณะที่การทำอิกซี่นั้นแพทย์จะบังคับให้เกิดการปฏิสนธิขึ้น

ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะใช้เทคนิคการทำเด็กหลอดแก้ว และการเทคนิคการทำอิกซี่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากประกันได้ระดับหนึ่งว่าจะมีการปฏิสนธิและเกิดตัวอ่อนขึ้นภายนอกร่างกาย ก่อนนำกลับเข้าไปในร่างกาย นอกจากนี้ การเก็บและเลี้ยงตัวอ่อนที่ปฎิสนธิแล้วให้เจริญเติบโตภายในห้องทดลองให้นานขึ้นระยะหนึ่ง เป็นการเพิ่มโอกาสในการฝังตัวของตัวอ่อนภายในมดลูกมีมากยิ่งขึ้นด้วย

เป้าหมายสำคัญของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ คือการช่วยให้คู่สมรสที่มีปัญหาการมีบุตรยาก ได้รับโอกาสที่จะได้มีบุตร ประโยชน์อีกประการหนึ่งซึ่งถือเป็นผลพลอยได้สำคัญจากเทคโนโลยีดังกล่าว คือการได้เซลล์ต้นตอจากตัวอ่อน (Embryonic Stem cell) ที่เกิดจากการผสมเทียม

เซลล์ต้นตอ คือ เซลล์ที่ไม่มีความจำเพาะ (unspecialized cell) มีความสามารถในการแบ่งเซลล์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดและสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่จำเพาะได้ ดังนั้น ในทางการแพทย์ สามารถนำเซลล์ต้นตอมาเพาะเลี้ยง และบังคับให้เซลล์ดังกล่าวพัฒนาต่อไปเป็นเซลล์ของอวัยวะที่ต้องการ เช่น เซลล์สมอง เซลล์หัวใจ เซลล์ตับอ่อน เพื่อนำไปรักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องจากความเสื่อมของเซลล์ที่อวัยวะนั้นๆ เช่น การนำเซลล์สมองที่เกิดขึ้นจากเซลล์ต้นตอไปปลูกถ่ายเพื่อรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซม์เมอร์ (Alzhimer) หรือโรคสั่นพาร์กินสัน (Parkinson) นำเซลล์หัวใจใหม่ปลูกถ่ายทดแทนในการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แหล่งของเซลล์ต้นตอมิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ตัวอ่อนเท่านั้น แพทย์สามารถใช้เซลล์ต้นตอที่ปะปนอยู่ในกระแสเลือดของบุคคล (Adult Stem cell) หรือจากสายสะดือของทารก หรือแหล่งอื่นๆ แต่การใช้เซลล์ต้นตอจากแหล่งดังกล่าว มักพบปัญหาผู้บริจาคที่มีจำนวนไม่เพียงพอ ยังอาจพบปัญหาที่เซลล์ต้นตอที่มีอยู่ไม่ตรงกับผู้รับบริจาคและนำไปใช้ไม่ได้ หรือร่างกายผู้รับบริจาคไม่ยอมรับเซลล์ต้นตอที่นำไปใส่ใหม่ เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามหาทางสร้างเซลล์ต้นตอจากตัวอ่อนโดยใช้เทคนิคการสำเนาสิ่งมีชีวิต (Cloning) มาใช้

จากพื้นฐานความก้าวหน้าทางการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคที่ทำให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกมดลูก (เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization and Embryo Transfer, IVF-ET) เมื่อนำมาผสมผสานกับความรู้และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ก็จะสามารถสร้างตัวอ่อน (Embryo) โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโคลนนิ่ง

เทคนิคการทำโคลนนิ่งทำได้โดย การนำไข่ออกมาจากร่างกายและนำนิวเคลียสของไข่นั้นออก จากนั้นนำนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายต้นแบบ มาใส่ในไข่ที่นำนิวเคลียสออกไปแล้วนั้น กระตุ้นเซลล์จนเกิดการแบ่งตัว เช่นเดียวกับเซลล์ที่ปฏิสนธิตามปกติ เมื่อเซลล์แบ่งตัวจนถึงระดับหนึ่งก็จะพัฒนาจนมีเชลล์ต้นตอที่สามารถนำมาใช้เพื่อการรักษาได้ แต่หากปล่อยให้เซลล์ดังกล่าวพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และนำไข่ดังกล่าวไปใส่กลับเข้าไปในร่างกายและปล่อยให้ฝังตัวในมดลูก ไข่นั้นก็อาจจะเติบโตเป็นมนุษย์

ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำเทคโนโลยีโคลนนิ่งมาช่วยในการรักษา (Therapeutic Cloning) แพทย์จะนำนิวเคลียสเซลล์จากผู้ป่วยเพื่อนำมาเป็นต้นแบบสำเนา เพื่อให้เซลล์ต้นตอที่เกิดขึ้นมีพันธุกรรมเดียวกันกับผู้รับ ลดปัญหาการต่อต้านจากร่างกาย อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาในช่วง 2-3 ปีมานี้ มีข่าวเผยแพร่ออกมาเป็นระยะว่านักวิทยาศาสตร์ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้สร้างมนุษย์ (Reproductive cloning) แม้ว่าในประเทศหลายประเทศมีกฎหมายห้ามดำเนินการดังกล่าว