อุ้มบุญ (17) ปัญหากฎหมายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์เพื่อการปฏิสนธิเทียมและแนวทางแก้ไข (ต่อ)

ก) สภาพปัญหา

การคัดเลือกเพศทารกทำให้เกิดการกำจัดตัวอ่อนและเป็นปัญหาที่กว้างกว่าการเป็นหมัน

แต่การคัดเลือกโรคที่ร้ายแรงเป็นเรื่องที่มีความเห็นในทางบวก

อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญในเรื่องการคัดเลือกทางพันธุกรรมสำหรับตัวอ่อนคือ เทคนิคดังกล่าวจะนำไปสู่แนวคิดเรื่อง eugenics หรือไม่ โดยที่นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Briton Francis Galton เป็นผู้บัญญัติคำดังกล่าวขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 19 เมื่อ ค.ศ.1885 และหมายถึงศาสตร์ว่าด้วยการผลิตผู้สืบทอดที่มีสุขภาพดีโดยการปรับปรุงทางพันธุกรรม ซึ่งรวมถึงการกำจัดปัจจัยที่ไม่สมบูรณ์ด้วย อันเป็นด้านที่นาซีเยอรมันนำไปใช้เป็นนโยบายเพื่อกำจัดผู้ที่ไม่สมบูรณ์ต่าง ๆ77

ปัญหาดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ อันทำให้มีความเห็นขัดแย้งกันซึ่งอาจสรุปได้เป็น 2 แนวทาง

ฝ่ายที่เห็นด้วยประสงค์ให้มีการวางกรอบที่ชัดเจนโดยการระบุโรคทางพันธุกรรมที่อนุญาตให้ใช้วิธีการดังกล่าวได้เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติ แต่ก็ยังมีปัญหาตามมาว่าหน่วยงานใดจะเหมาะสมที่จะได้รับมอบหมายอำนาจให้เป็นผู้กำหนดและถึงอย่างไรก็ตามก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานดังกล่าวในการกำหนดรายการของโรคอยู่ดี

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่จะเกิดมาเป็นคนพิการอันเป็นการขัดต่อสิทธิของผู้พิการ 78 และยังอาจขัดกับความประสงค์ของครอบครัวบางครอบครัวที่มีความพร้อมและปรารถนาจะรับเด็กเป็นสมาชิกแม้รู้ว่าจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม นอกจากนี้ในบางประเทศยังอาจขัดกับกฎหมายเรื่องข้อยกเว้นในการอนุญาตให้ทำแท้งได้ รวมถึงอาจขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปสำหรับบางประเทศเช่น รัฐธรรมนูญเยอรมัน(มาตรา1และ2) ห้ามการทำลายตัวอ่อนไว้79

ในแง่จริยธรรมแล้วปัญหาที่สำคัญคือความรู้ทางพันธุกรรมอาจนำไปสู่การละเมิดชีวิตของมนุษย์ได้80  หรือทำให้เกิดความยุ่งยากเช่น การดำเนินการทำให้เด็กต้องกำพร้าและสร้างภาระให้สังคมโดยการนำตัวอ่อนมาพัฒนาจนกลายเป็นมนุษย์หลังจากการเสียชีวิตของบิดามารดาไปแล้วดังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเด็กชาวออสเตรเลีย ชื่อ Zoe Leyland ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2527 เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ซับซ้อนตามมาอีกหลายประการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในกรณีที่อนุญาตให้ใช้เทคนิคนี้ได้ หากมีตัวอ่อนที่เหลือใช้ ผู้ใดจะมีสิทธิในการจัดการตัวอ่อนเหล่านี้ ในระหว่างผู้ดำเนินการ สามี ภรรยา หรือผู้บริจาค

ปัญหาอีกประการคือ หากตรวจพบว่าตัวอ่อนมีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงทางพันธุกรรม ผู้เกี่ยวข้องจะมีสิทธิดำเนินการกับตัวอ่อนได้อย่างไร เช่นการทำลาย การเก็บรักษา การบริจาคให้ผู้อื่นต่อไปหรือเพื่อใช้ในการทดลอง ฯลฯ

ปัญหาอีกเรื่องก็คือ แม้จะผ่านการตรวจแล้ว หากเด็กที่เกิดมายังมีความผิดปกติทางพันธุกรรมอยู่ ผู้ให้บริการจะมีความรับผิดตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร

ข) ข้อเท็จจริงกรณีของประเทศไทย

การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนยังมีการกระทำน้อยมากเพราะขั้นตอนยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง จะมีเฉพาะในสถาบันใหญ่ๆเช่นโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น

การคัดเลือกเพศทารกจากตัวอ่อนในประเทศไทยตามประกาศแพทยสภาที่ 21/2545 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์(ฉบับที่ 2) ข้อ 4/2 (3) (ง) กำหนดว่า “การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก (Pre-implantation Genetic Diagnosis) ให้กระทำได้เฉพาะการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นการกระทำที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการเลือกเพศ โดยจะต้องมีหนังสือแสดงความยินยอมตามแบบแนบท้ายประกาศนี้” ดังนั้นตามประกาศของแพทยสภาจึงไม่อนุญาตให้มีการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรม เพื่อตรวจเพศของตัวอ่อนโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อย่างอื่น

แต่มีการดำเนินการเพื่อการเลือกเพศทารกโดยการคัดโครโมโซมในอสุจิ ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติต่อตัวอ่อนของมนุษย์จึงมิอยู่ในข่ายที่มีการถกเถียงเรื่องความเหมาะสม

ในส่วนที่เกี่ยวกับการคัดเลือกโรค มีตัวอย่างที่กำหนดไว้ในแบบหนังสือแสดงความยินยอมของประกาศดังกล่าวข้างต้นเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก เช่นโรคโลหิตจาง(ธาลัสซีเมีย) โรคกล้ามเนื้อลีบทางพันธุกรรม เป็นต้น

สำหรับตัวอ่อนที่ไม่พบโรคทางพันธุกรรมส่วนหนึ่งจะถูกปลูกฝังเข้าสู่โพรงมดลูก หากมีส่วนเกินก็จะถูกเก็บรักษาไว้ด้วยกระบวนการแช่แข็ง81

ในทางปฏิบัติสามี ภริยาทั้งสองฝ่ายอาจตกลงรายละเอียดเรื่องการจัดการและสิทธิในตัวอ่อนที่เหลืออยู่ แต่หนังสือความยินยอมในเรื่องนี้ยังมิได้รับการควบคุมหรือกำกับจากกฎเกณฑ์ใดๆจึงขึ้นอยู่กับหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องนี้ว่าด้วยเจตนารมณ์ของผู้ยินยอม ซึ่งน่าจะไม่เพียงพอเมื่อเกิดปัญหาขึ้นเพราะเกี่ยวข้องกับบุคคล มิใช่ทรัพย์ดังกล่าวมาแล้ว

สำหรับการเลือกเพศทารกในทางปฏิบัติมีการใช้เทคนิคเพื่อคัดเลือกเพศทารกโดยเฉพาะสำหรับคู่สมรสที่ประสงค์เช่นนั้นและมีฐานะทางเศรษฐกิจดี สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงได้ ทั้งนี้โดยปราศจากกฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดใดๆเกี่ยวกับเงื่อนไขในการดำเนินการ

ค)แนวทางในการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายเปรียบเทียบ

แม้ว่ามีบางประเทศยึดหลักเสรีภาพในการดำเนินการ และมีบางประเทศที่ทางปฏิบัติสะท้อนให้เห็นแนวคิดนี้เช่น อินเดียและจีนที่เลือกกำจัดตัวอ่อนเพศหญิง82  แต่ ในหลายประเทศมีการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นทำได้หากประสงค์จะหลีกเลี่ยงความผิดปกติจากโรคร้ายแรงที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม83  แต่มักห้ามการดำเนินการเช่นนี้ด้วยเหตุผลทางสังคม เนื่องจากมิใช่เรื่องการบำบัดรักษาแต่เป็นเรื่องของความต้องการส่วนตัว จึงเป็นเรื่องที่ปราศจากความจำเป็นและโดยเฉพาะในสังคมหรือประเทศที่ให้ความเสมอภาคกับทั้งสองเพศอยู่แล้ว การดำเนินการจึงอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเพศได้อันขัดต่อหลักความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย ดังตัวอย่างของอังกฤษที่มีการออกแนวปฏิบัติ หรือ Code of Practice(ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 ค.ศ.2001)เพื่อห้ามการเลือกเพศด้วยเหตุผลทางสังคม โดยการทดสอบอสุจิเพื่อเลือกเพศ84

ง) ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย

ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคกับทั้งเพศชายและหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่มีการบัญญัติกฎหมายให้ความเท่าเทียมกันในการเลือกใช้นามสกุลเมื่อเร็วๆนี้ ดังนั้นจึงทำให้ขาดความจำเป็นใดๆในการเลือกเพศทารกโดยเฉพาะเพศชายด้วยเหตุผลในเรื่องของการสืบสกุล จะเหลือก็เพียงในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความปรารถนาจะมีทารกตามเพศที่ต้องการ กับกรณีที่ต้องการเลือกเพศทารกเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติ เช่นเพื่อช่วยในการประกอบวิชาชีพซึ่งลักษณะของงานต้องอาศัยแรงงานของบางเพศ ซึ่งในสองกรณีหลังนี้หากใช้หลักการเรื่องความจำเป็นในการบำบัดรักษาก็น่าจะไม่เข้าข่ายที่จะได้รับอนุญาต แต่ถ้ายึดหลักเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลและไม่ต้องการตัดสิทธิของผู้เกี่ยวข้องก็จำต้องมีการวางเงื่อนไข มิให้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติในความเป็นจริงสำหรับผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเท่านั้น และเพื่อป้องกันมิให้มีการฉวยโอกาสและใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจากผู้ดำเนินการใช้เทคนิคดังกล่าวเพื่อแสวงประโยชน์ทางธุรกิจแทนที่จะทุ่มเทเพื่อการบำบัดรักษาดังเช่นในกรณีอื่น

———————————–

77 ROGERS Arthur and DURAND DE BOUSINGEN Denis, Bioethics in Europe, Netherlands: Council of Europe Press, 1995), Chapter1.

78 STEINBOCK, Bonnie, “Preimplantation Genetic Diagnosid and Embryo Selection”, article in Justine Burley and John Harris (editors), A Companion to Genetics (Oxford:Blackwell Publishers,2002), pp. 180-181.

79 “Genetic diagnosis before and after pregnancy”, report of German National Ethics Council (Saladruck, Berlin, 2003), p.76.

80 พระไพศาล วิสาโล, “พันธุกรรมมนุษย์กับคุณภาพคน”, เอกสารสรุปผลการประชุมระดับชาติว่าด้วยชีวจริยธรรมและพันธุกรรมมนุษย์ (National Meeting on Bioethics and Human Genetics) ระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน พ.ศ.2544,จัดทำโดยคณะทำงานโครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่,หน้า 50

81 อ้างจากหนังสือแสดงความยินยอมเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก (เอกสารแนบท้ายฉบับที่ 5 ของประกาศแพทยสภาที่ 21/2545 (ฉบับที่ 2))

82 RoGers, Arthur and DURAND DE BOUSINGEN Denis, ฺBioethics in Europe, op.cit., pp. 29-34.

83 Ibid., pp.119-120.

84 STAUCH Marc, WHEAT Kay and TINGLE John, Sourcebook on Medical Law, 2nd edition (London: Cavendish Publishing, 2002).p. 397.