ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ

เจริญเติบโต สมบูรณ์แข็งแรง มีพัฒนาการสมดุลทั้งทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจและอารมณ์ ซึ่งการให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนาเด็กแม้เพียง 1 ปี ในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน เด็กจะมีความสามารถและพัฒนาการที่สูงขึ้น (นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์)

ศูนย์เด็กเล็ก พื้นที่บ่มเพาะเด็กไทยมีคุณภาพ

ศูนย์เด็กเล็กมีความสำคัญต่อพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กเล็กที่ไม่มีความพร้อมในการดูแล จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็กไทยในอนาคต เพราะเด็กมีการเจริญเติบโตที่ล่าช้า ไม่เต็มที่โดยเฉพาะด้านที่ช้าคือภาษาและกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งเป็นรากฐานของสติปัญญา

ศูนย์เด็กเล็กบางครั้งใช้คำว่า “สถานรับเลี้ยงเด็ก” เมื่อก่อนจะใช้คำว่า “สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน” ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้คำว่า “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.)” ทางกรมอนามัยเรียกว่า “ศูนย์เด็กเล็ก”

สิ่งที่น่าเป็นห่วง เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจพบว่า “ศูนย์เด็กเล็กอีกจำนวนหนึ่ง ยังขาดความพร้อม ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐานการดูแลศูนย์เด็กเล็ก” โดยศูนย์เด็กเล็กในสังกัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จะพบปัญหามีของเล่นไม่เพียงพอ ของเล่นที่มีอยู่มีสภาพชำรุด รอการซ่อมแซม ห้องน้ำมีสภาพชำรุด และส่วนหนึ่งยังมีปัญหาไม่สามารถจัดการที่นอนให้เด็กนอนได้

ปัจจุบัน รูปแบบศูนย์เด็กเล็กในปัจจุบันมี 3 รูปแบบ

แบบที่ 1 บริการเลี้ยงเด็กกลางวันในครอบครัว บริการรับเลี้ยงเด็กในบ้านและรับเลี้ยงเด็กเป็นกลุ่ม ดำเนินการเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การเลี้ยงเด็กในครอบครัว คือ ฝากกับคนใกล้ ๆ บ้าน จะมีการรับเลี้ยงเด็กเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นทางการ

แบบที่ 2 สถานรับเลี้ยงเด็ก คือ สถานบริการรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ดำเนินการโดยภาครัฐ เอกชน ซึ่งต้องทำเรื่องขออนุญาตจากกระทรวงพัฒนาสังคม ดำเนินการทั้งภาครัฐและเอกชน

แบบที่ 3 การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา บริการพัฒนาเด็กในระบบโรงเรียน โดยจัดเป็นชั้นอนุบาล 1-3 และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รับเด็กตั้งแต่อายุ 3-6 ปี เช่น โรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรับตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป

“ศูนย์เด็กเล็ก” บทบาทของใคร? ทำอะไร?

ด้วยสังกัดของศูนย์เด็กเล็กขึ้นกับหน่วยงานที่หลากหลาย ในบางหน่วยงานมีภารกิจที่จำเพาะ ดังนั้นบทบาทภารกิจหลักที่จำแนกได้มีดังนี้

กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ภารกิจคือ

– ส่งเสริม พัฒนาการดำเนินงาน ศพด.ตามบทบาทหน้าที่และภารกิจของ อปท.

– ประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการ ศพด. ในท้องถิ่นและชุมชน

– ศึกษา พัฒนาประสิทธิภาพของรูปแบบวิธีการจัดการศึกษาใน ศพด.

– ส่งเสริม สนับสนุนการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินงานใน ศพด.

– พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานการจัดการศึกษา ศพด. ให้ครอบคลุมพื้นที่ของตนเอง

– ส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้ง ศพด.เพื่อให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

“มีต่อ”