การเล่นกับพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Free Play)

นั่นเป็นสภาวะที่สมองของเด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ เนื่องจากสมองไม่ตึงเครียดแต่มีภาวะตื่นตัวมีแรงจูงใจและรู้สึกดีดังนั้นหากผู้ปกครองและผู้ดูแลสนับสนุนการเล่นในเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมแล้ว เชื่อได้ว่าเด็กจะเติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพรอบด้านได้ในอนาคต

อย่างไร? ถึงเรียกว่า “การเล่น”

องค์ประกอบที่เข้าข่าย “การเล่น” มีอยู่ 7 อย่างด้วยกัน คือ

1. เล่นโดย ไม่มีเป้าหมาย เด็กเล่นโดยไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน ไม่ได้ตั้งใจเล่นเพื่อให้พ่อแม่ชื่นชม ไม่ได้เล่นเพื่อจะได้ขนมหรือเงินทอง แต่มีเป้าหมายในตัวของมันเองคือเป้าหมายที่จะเล่น

2. เล่นโดย เต็มใจ เด็กเล่นด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่เป็นเพราะหน้าที่หรือถูกบังคับ

3. เล่นแบบ สนุก การเล่นทำให้เด็กรู้สึกดี ตื่นเต้น ช่วยทำให้คลายความเบื่อ เหงา

4. เล่นโดย ปราศจากกาลเวลา เมื่อเข้าไปสู่การเล่นเต็มที่แล้ว เด็กจะไม่คำนึงถึงเวลา เด็กอาจเล่นไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ตระหนักว่านานเท่าไหร่แล้ว

5. เล่นโดย ปราศจากตัวตน เมื่อเล่นแล้วเด็กมักไม่ได้คำนึงว่าตนเองจะดูดีหรือดูงุ่มง่าม ไม่เข้าท่า เด็กจะไม่กังวลถึงภาพลักษณ์ของตนเอง ในโลกจินตนาการเด็กจึงอาจเป็นโน่นเป็นนี่ได้โดยง่าย

6. การเล่น เกิดขึ้นทันที หรือด้นสด เด็กสามารถปรับเปลี่ยน ลื่นไหลตามความคิดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ในโลกของการเล่นจึงมีความยืดหยุ่นสูงและเกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นได้ตลอดเวลา

7. เล่นโดยมี ความต้องการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเล่นมีความสนุก ตื่นเต้น เด็กจึงมีความปรารถนาที่จะเล่นไปเรื่อย ๆ หากเกิดความน่าเบื่อหรืออุปสรรคขึ้น เด็กก็สามารถหาทางปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคนั้น ๆ ให้การเล่นดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

จากองค์ประกอบของการเล่นทั้ง 7 ประการข้างต้น หากกิจกรรมใดไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ กิจกรรมนั้นก็ไม่เข้าข่ายการเล่น เช่น แม่ให้ลูกร้อยลูกปัดเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือการเล่นงูไต่บันใด ตามคุณสมบัติของการเล่นขั้นต้นจึงไม่ถือเป็นการเล่น บางครั้งการวิ่งไล่จับเป็นการเล่นแต่บางครั้งไม่เป็นการเล่น นั่นขึ้นกับว่าในแต่ละครั้งความรู้สึกหรือสภาวะทางจิตใจเป็นอย่างไร การเล่นในองค์ประกอบทั้ง 7 ประการนี้ บางท่านจึงเรียกว่า “การเล่นอย่างอิสระ” หรือ Free Play แทน เพื่อไม่ให้สับสนกับการเล่นทั่วไป ในที่นี้หากกล่าวถึงการเล่นหรือการเล่นอย่างอิสระให้ถือเป็นเรื่องเดียวกัน

การเล่นกับการปรับตัวของเด็ก

– การปรับอารมณ์ (Emotion Regulation)

การเล่นช่วยสนับสนุนให้เด็กมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับอารมณ์ได้ดี เพราะลักษณะของการเล่นเองมีความไม่แน่นอน มีการปรับเลี่ยนตลอดเวลา เด็กที่มีโอกาสเล่นมากทั้งกับคนอื่นและตามลำพัง มีโอกาสเกิดอารมณ์ที่หลากหลาย ประสบการณ์การเล่นที่หลากหลายและต่อเนื่องช่วยให้เด็กไม่ตอบสนองต่อเหตุที่มากระทบอย่างรุนแรงเกินไปในชีวิตจริง

– ความรู้สึกบวก

การเล่นก่อให้เกิดความสนุกสนาน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกบวกต่าง ๆ ขึ้น ความรู้สึกดีเหล่านี้จะช่วยให้เด็กอยากที่จะเล่นต่อ อยากสำรวจและเกิดความคิดใหม่ ๆ และความคิดสร้างสรรค์ต่อมา

– การจัดการกับความเครียด

ขณะเล่นมักเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น เด็กมีโอกาสฝึกฝนการแก้ไขปัญหา ความเครียดในระดับไม่มากนักที่เกิดขึ้นในการเล่น ซึ่งเกิดไปด้วยกันกับความรู้สึกตื่นเต้น สนุกของการเล่น ช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นใจและรู้สึกดีต่อการแก้ไขปัญหา อันจะนำไปสู่การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพต่อความเครียดและปัญหาในชีวิตจริงต่อไป

– ความคิดสร้างสรรค์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นในขณะเล่น เนื่องจากเด็กต้องการตอบสนองต่อสถานการณ์หรือสิ่งเร้าที่ใหม่ พิเศษ ไม่แน่นอน โดยไม่รู้สึกถูกคุกคามหรือจริงจังจนเกินไป การเล่นจึงช่วยให้เกิดการตอบสนองที่สร้างสรรค์และหลากหลายมากกว่าการตอบสนองที่จำกัดและเป็นเหตุเป็นผล

– การเรียนรู้

ประโยชน์ขั้นพื้นฐานของการเล่นต่อการเรียนรู้ไม่ใช่ตัวความรู้หรือการพัฒนาความสามารถคิดอ่านขั้นสูงแต่การเล่นก่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการเกิดแรงจูงใจ ความรู้สึกบวก และผลลัพธ์ที่เป็นเสมือนรางวัลต่อเด็กความรู้สึกเหล่านี้ผสมผสานกับความคิดอ่านที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ที่มีความหมายและประสิทธิภาพสำหรับเด็ก

– ความสัมพันธ์กับผู้คน

การเล่นเป็นปัจจัยหลักที่จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์หรือความผูกพันที่แน่นแฟ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กเกิดจนเป็นผู้ใหญ่ รูปแบบต่าง ๆ ของการเล่น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นจินตนาการ เล่นบทบาทสมมติ หรือเล่นกอดรัดฟัดเหวี่ยง เล่นต่อสู้ หากทำอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เด็กพัฒนาความสัมพันธ์หรือความผูกพันที่ดีกับผู้อื่นได้

เด็กจะรู้สึกผูกพันและมั่นคงในอารมณ์ผ่านความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ ซึ่งความผูกพันและความสัมพันธ์ที่ดีต่อพ่อแม่นั้นจะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีโอกาสเล่นกับพ่อแม่สม่ำเสมอ โดยพ่อแม่รู้จักตอบสนองอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอกับเพื่อนก็เช่นกัน เด็กจะรู้สึกสนิทสนมกับเพื่อน มีเพื่อนและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพื่อนผ่านการเล่นในรูปแบบต่าง ๆ เด็กที่มีโอกาสเล่นกับเพื่อนมาก ๆ มักจะจัดการกับสถานการณ์ทางสังคมที่คาดเดายากได้ดี หากพ่อแม่และโรงเรียนสนับสนุนอย่างเหมาะสม นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว เด็กยังเรียนรู้พัฒนาการทางสังคมหรือทักษะสังคมขั้นสูงต่อไป