[เรียนจากโลก] เล่น-เรียน-รู้

Gaining on the swings: Franzenia daycare centre, Helsinki, where the emphasis is on creative play. Photograph: Karin Hannukainen/University of Helsinki

ความลับของระบบการศึกษาชั้นนำของฟินแลนด์

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ถูกจัดว่าดีที่สุดในยุโรป แต่ช่วงต้นของระบบกลับไม่ใช่ “การศึกษา” เด็กที่นี่จะไม่เริ่มเรียนก่อนอายุ 7 ขวบ เพราะมันคือช่วงเวลาของความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาต้องการเล่นและใช้ร่างกาย ศูนย์รับเลี้ยงเด็กจึงมีหน้าที่ช่วยพัฒนาพฤติกรรมทางสังคมที่ดีและสร้างความสุขในการเรียนรู้ ผ่านการเล่นอย่างอิสระผสมผสานกับการเล่นในแบบแผนที่กำหนดไว้ โดยมีการประเมินการเล่นและพัฒนาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง เดวิด ไวท์เบรด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเล่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อธิบายว่า การเล่นที่จัดอย่างระมัดระวังจะช่วยพัฒนาความสนใจ ความพยายาม และการแก้ปัญหา มีหลักฐานว่าการเล่นที่มีคุณภาพในช่วงก่อนเข้าเรียนนั้น ช่วยพัฒนาการศึกษาและเพิ่มความสำเร็จให้เด็กในระยะยาวด้วย การเล่นจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสนใจเพื่อการนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษาต่อไป

 

ผลประโยชน์จากความสนุก

คาร่า โชว์ เล่นกับลูกๆ ของเธอเป็นประจำ บางครั้งก็ช่วยกันสร้างภูเขาไฟจากดินน้ำมัน เบกกิ้งโซดา และน้ำส้มสายชู ขุดหาคริสตัลจากชุดของเล่นแซนดี้ ทำคุกกี้และแนะนำส่วนประกอบต่างๆ บางครั้งก็เล่นบอร์ดเกมหรือแสดงบทบาทสมมติ รวมไปถึงเกมที่ลูกๆ คิดขึ้นมาเองด้วย ในแต่ครั้งที่เล่นเกม เธอสังเกตเห็นว่าลูกของเธอเข้าใจกติกาและเชื่อมโยงได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังมีความมั่นใจในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ โบ สเจิร์น ทอมสัน ผู้อำนวยการมูลนิธิเลโก้ อธิบายว่าการเล่นที่ดีต้องเป็นการเล่นทั้งแบบอิสระและมีโครงสร้างสลับกัน ตัวอย่างในการเล่นเลโก้ บางครั้งต้องให้เด็กทำตามคู่มือการใช้งานในการสร้างเลโก้และบางครั้งต้องปล่อยให้เขาสร้างสิ่งที่เขาต้องการ เพราะการเล่นนั้นช่วยพัฒนาทักษะการคิด ทักษะทางกายภาพ ทักษะสังคม และทักษะทางอารมณ์ ตลอดจนยังช่วยเพิ่มไอคิวและความสำเร็จในระยะยาวด้วย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการเล่นนั้นก็ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตลอดจนกระบวนการคิดในเด็กได้อย่างน่าอัศจรรย์

Jack O’Neil, left, and Henry Sartell work on a robot during a Star Wars-themed STEM workshop titled “From A Galaxy Far, Far Away” at Northern Illinois University in DeKalb, Ill., on Jan. 28, 2017. (MATTHEW APGAR/DAILY CHRONICLE/AP)

Star Wars ในชั้นเรียนแบบบูรณาการช่วยเก็บเกี่ยวจินตนาการของเด็กๆ

เอมีเลีย เวนก้า อายุ 8 ขวบ และเด็กคนอื่นๆ อีกกว่า 20 คน สนุกและตื่นเต้นกับการเข้าเรียนวิทยาศาสตร์ในโปรแกรมการเรียนแบบบูรณาการ (STEM class) ของมหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการสร้างหุ่นยนต์ ภาพ 3 มิติ (Hologram) และดาบเลเซอร์ ‘Star Wars’ คุณครูเจเรมี เบนสัน กล่าวว่า เด็กๆ ทุกคนรัก Star Wars และตื่นเต้นกับมัน เราจึงใช้เสน่ห์ตรงนี้ของมันมากระตุ้นให้เด็กได้คิดอย่างบูรณาการ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่เราจะศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากเรื่องใกล้ตัวทั่วไปที่เด็กมีความสนใจ เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีการทำงานของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นอย่างสนุกสนาน เพราะความสนใจทำให้การเรียนรู้เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและเพลิดเพลิน และนั่นคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเด็กๆ เป็นความรับผิดชอบของเราทุกคน