เกี่ยวกับมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

การก่อตั้ง

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ ตามเจตนารมณ์ของนายแพทย์สฤษดิ์วงศ์และคุณหญิงสดศรี วงศ์ถ้วยทอง โดยมีวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพมนุษย์เพื่อประโยชน์ของสังคมไทย

ในปี ๒๕๓๘ ได้จัดประชุมระดับชาติ เรื่อง “จุดประกายสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตมนุษยชาติ” โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เป็นองค์ปาฐก มีนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย เข้าร่วม

ในปี ๒๕๓๙ ได้จัดประชุมระดับชาติ เรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา” โดยมีนายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุขวิช รังสิตพล และดร.รุ่ง แก้วแดง เข้าร่วม หลังจากนั้น ดร.รุ่ง แก้วดง ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สภาการศึกษา) และเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา มีผลให้เกิด พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ ๒๕๔๒

ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ เมื่อเริ่มการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ ๑ มูลนิธิฯ จึงได้ปรับภารกิจของมูลนิธิฯ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา โดยได้ไปขอความร่วมมือจาก ดร.อุทัย ดุลยเกษม นักวิชาการการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้นมาทำงานเต็มเวลากับมูลนิธิฯ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปการศึกษา มูลนิธิฯได้ติดต่อคุณวิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ ให้มาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร “สานปฏิรูป” เพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปการศึกษา โดย ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการสภาการศึกษา ให้ใช้สถานที่ที่ตึกสภาการศึกษาเป็นที่ทำการของสำนักงานนิตยสาร “สานปฏิรูป” ซึ่งแพร่หลายและเป็นที่รู้จักทั่วไป

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ปัจจุบัน มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม พัฒนากระบวนการเรียนรู้และนวัตกรรมทางการศึกษา รวบรวมองค์ความรู้และศึกษาวิจัยในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมไทย ไปจนถึงดำเนินการสาธารณะประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์กรกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

ปรัชญาของมูลนิธิ

  • การเรียนรู้มีความสำคัญมากกว่าความรู้ แปลว่านักเรียนไทยควรมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งที่ตนเองสนใจและเป็นไปตามความจำเป็นของชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ สามารถเรียนรู้ได้จากทุกสถานที่และเวลา
  • กระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ แปลว่านักเรียนไทยควรมีความสามารถในการค้นคว้าหาคำตอบสำหรับโจทย์ปัญหาใดๆอย่างหลากหลาย ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าโลกสมัยใหม่ไม่มีคำตอบตายตัวเพียงหนึ่งเดียวในการดำรงชีวิตจริง
  • ครูและนักเรียนมีความเท่าเทียมในกระบวนการเรียนรู้ แปลว่าครูสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องรู้มากกว่านักเรียนอีกต่อไป ครูไทยสามารถเปลี่ยนหน้าที่เป็นโค้ชการเรียนรู้ ทำหน้าที่ร่วมมือกับนักเรียนในการออกแบบโจทย์ปัญหาและพานักเรียนค้นคว้าหาคำตอบอย่างมีอิสระ

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์  มีความเชื่อมั่นว่า  การแก้ไขปัญหาในสังคมจะต้องอาศัยวิธีคิดที่มีลักษณะ สร้างสรรค์ (Innovative) และมีจินตนาการ (Imaginative) ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิฯ จึงมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อกระตุ้น เชื่อมประสาน และส่งเสริมให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคิดค้นสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆที่จะเป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้บรรลุปัญญา ความดี ความงาม มิตรภาพ และสันติภาพ โดยจะสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรที่มีศักยภาพโดดเด่น หรือกลุ่มบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

  • ๒๕๔๘ ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ : พัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ
  • ๒๕๔๙  แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ
  • ๒๕๕๓ โครงการการเสริมพลังพหุพาคี เพื่อพัฒนาศูนย์เด็กเล็กอย่างมีส่วนร่วมด้วยกระบวนการจัดการความรู้
  • ๒๕๕๓ โครงการเสริมศักยภาพบุคลากรเพื่อการสนับสนุนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
  • ๒๕๕๓ โครงการการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมปลอดพนัน
  • ๒๕๕๔ โครงการเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณครู
  • ๒๕๕๔ โครงการสร้างเครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติทางออนไลน์ครูเพื่อศิษย์ใน www.gotoknow.org
  • ๒๕๕๔ เครือข่ายวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสนับสนุนงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
  • ๒๕๕๕ เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณครูและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ : ภาคกลาง
  • ๒๕๕๕ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจัดระบบปฏิบัติการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วย กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดปทุมธานี
  • ๒๕๕๕ โครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เพื่อปฏิรูปการศึกษาและจับภาพครูดี
  • ๒๕๕๕ โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี
  • ๒๕๕๕ โครงการสร้างวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาจิตจากการทำงาน โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้ากรมแพทย์ทหารเรือ
  • ๒๕๕๖  โครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบและภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑
  • ๒๕๕๗ การขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน
  • ๒๕๕๘ โครงการเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณครูและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
  • ๒๕๕๘ โครงการพัฒนายุทธศาสตร์ใหม่เพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้