บทบาทสื่อสร้างการเรียนรู้คุณธรรมใน 5 ประเทศ

พิทักษ์  โสตถยาคม

นักวิชาการศึกษา กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ และรุ่งเรือง สุขาภิรมย์ (2550) ที่ได้สังเคราะห์งานวิจัยคุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประเทศต่างๆ รวม 10 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนาม ศรีลังกา อินเดีย ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และนิวซีแลนด์ พบตัวแปรร่วม จำนวน 7 ตัวแปร ได้แก่

1) บทบาทของผู้นำ/บุคคลที่เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธา

2) ศาสนา/ ลัทธิ/ ปรัชญา/ ความเชื่อ

3) สถาบันครอบครัว

4) สถาบันการศาสนา

5) บทบาทของรัฐ

6) สื่อมวลชนและสื่อต่างๆ

7) การมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และองค์กรต่างๆ

พบข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทสื่อมวลชนและสื่อต่างๆ ต่อการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ดังนี้

ประเทศเกาหลี

สื่อมวลชนมีบทบาทในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาที่บ้านว่าด้วย การบ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีงาม การสร้างบุคลิกภาพที่ดี ลดการเสนอข่าวอันก่อให้เกิดความรุนแรง การยั่วยุให้เยาวชนหลงใหลไปกับสิ่งมอมเมาและยาเสพติด

 

ประเทศไต้หวัน

ใช้สื่อต่างๆ ในการเผยแพร่ธรรมะ ด้วยรูปแบบหลากหลายอย่างมีคุณภาพเหมาะสมกับวัย ใช้ระบบสื่อสารมวลชน ทั้งการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ช่องศาสนาพุทธ จำนวน 6 สถานี ทำให้สามารถผลิตรายการธรรมะเผยแพร่สู่ประชาชนได้ในวงกว้างและตลอดเวลา ออกหนังสือพิมพ์รายวัน และประยุกต์ใช้ ICT สื่อสารธรรมะข้ามประเทศ

 

ประเทศเวียตนาม

สื่อมวลชนทุกแขนงอยู่ในความควบคุมของรัฐ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับและสถานีโทรทัศน์ รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย สื่อมวลชนจึงเป็นเครื่องมือของรัฐในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่คนในชาติ คนเวียตนามยังรักชาติเพราะสถานีโทรทัศน์จะนำภาพยนตร์ประวัติศาสตร์การต่อสู้กับฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ซึ่งวีรบุรุษผ่านการต่อสู้มาอย่างยากลำบาก ให้เห็นว่าสงครามมีผลกระทบกับครอบครัวอย่างไร ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีวิกฤตต่างๆ คนรุ่นใหม่จะมัวหลงอยู่กับความสุขสบายอย่างเดียวไม่ได้ นอกจากนี้สื่อโทรทัศน์จะมีเนื้อหาจำแนกตามความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ส่วนสื่ออื่นๆ เช่น หนังสือพิมพ์ยังให้ความสำคัญกับการศึกษา นั่นคือ ได้ยกหน้าหนังสือพิมพ์ให้กับข่าวการศึกษาถึง 4 หน้า เป็นประจำทุกวัน นอกจากนั้น วรรณกรรมของเวียตนามได้แฝงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมมาตั้งแต่เด็ก

 

ประเทศศรีลังกา

ใช้วิทยุกระจายเสียงถ่ายทอดเสียงในหมู่บ้านเสียงดังชัดเจนเหมือนนาฬิกาปลุก ทุกเช้าเวลา 05.30 น. เสียงอาราธนาศีล ให้ศีลห้า ชาวบ้านที่นับถือพุทธหลายคนจะใช้ช่วงนี้รับศีลจากพระโดยไม่ต้องเดินทางไปรับศีลที่วัด เสียงพระให้ศีลในตอนรุ่งเช้ากลายเป็นวิถีชีวิตของชาวศรีลังกา เป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้ชาวบ้านรู้สึกใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาอย่างง่ายที่สุด โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณแต่อย่างใด ทุกเช้าเมื่อรับศีลแล้ว พระจะสวดมหามงคลสูตร เป็นการเตือนให้ชาวพุทธผูกพันอยู่กับรากฐานแห่งคุณธรรมในเนื้อหาของมงคลสูตร

 

ประเทศเยอรมัน

สื่อโทรทัศน์จะจัดสรรเวลา 17.00-23.00 น. เป็นรายการสำหรับเด็กเป็นส่วนใหญ่ จะมีรายการด้านความรู้ เกมวิทยาศาสตร์ รวมทั้งภาพยนตร์ที่มีคติสอนใจให้เด็กเป็นเด็กดีมีคุณธรรม และจะมีตัวอักษรแนะนำว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องเหมาะสมกับเด็กวัยใด สำหรับสื่อหนังสือ จะมีร้านขายหนังสือตามระดับอายุอยู่จำนวนมาก เช่น ตามสถานีรถไฟคนขึ้นรถไฟจะหาซื้อหนังสือไปอ่าน ซึ่งเด็กเยอรมันจะได้รับการฝึกให้เป็นผู้รักการอ่านการเขียนในระดับประถมและมัธยม ครูจะให้อ่านและเขียนเรื่องราวต่างๆ เป็นการบ้าน รวมทั้งครอบครัวชาวเยอรมันจะเป็นผู้รักการอ่านหนังสืออยู่แล้ว

 

รายการอ้างอิง

ขวัญสรวง อติโพธิ.  (2557).  คิดอย่างมีชาติ. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2559, จาก https://goo.gl/oy6Uks
เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ และรุ่งเรือง สุขาภิรมย์.  (2550).  รายงานการสังเคราะห์งานวิจัยคุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประเทศต่างๆ. กรุงเทพฯ: ศูนย์คุณธรรม.
ประเวศ วะสี.  (2554).  เทศาภิวัฒน์: การปฏิรูปการบริหารประเทศจากการเอากรมเป็นตัวตั้งเป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง.  กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.).
ประเวศ วะสี.  (2559).  การศึกษาเปลี่ยนประเทศไทย ประเทศไทยเปลี่ยนการศึกษา.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.
สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ.  (มปป.). การปฏิรูปการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 เพื่อความเป็นผู้นำในยุคสารสนเทศและโลกาภิวัฒน์.  กรุงเทพฯ: สกศ.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.  (2559).  (ร่าง) กรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2574. กรุงเทพฯ: สกศ.
สุภกร บัวสาย.  (2556).  จดหมายถึงเพื่อนสมาชิก ฉบับที่ 126 ฟินแลนด์: มหัศจรรย์การศึกษา. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2559, จาก https://goo.gl/LJFBtj
สุรัฐ ศิลปอนันต์. (2558).  ฟินแลนด์ปฏิรูปการศึกษาจนเป็นเลิศที่สุดในโลก.  ใน เหลียวหลังแลหน้า ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน. เอกสารประกอบการเสวนาการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วันที่ 29 มกราคม 2558 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์.
อภิษฎา ทองสอาด.  (2559). พัฒนาการและการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์.  เอกสารทบวนการพัฒนาการและการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ในโครงการยกระดับสุขภาวะโรงเรียนเพื่อเป็นฐานการศึกษาจังหวัด  มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.